วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

แฉ รัฐเผด็จการใช้ทหารปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นCommunity University Assembly of the Poor. THAILANDเครือข่ายพิทักษ์แม่น้ำยม
จากการที่กองทัพบก โดยรอง ผบ.ทบ.ได้สั่งการให้หน่วยข่าวกองทัพบก เข้าพื้นที่ที่จะสร้างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ เพื่อประเมินสถานการณ์และหาข่าว และกองทัพบกจะนัดประชุม 3 ฝ่าย (ทหาร , กรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง) ภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 เพื่อวางแผนในการดำเนินงานต่อไป อีกทั้งทางกรมชลประทาน ยังมีการขอกำลังทหารเพื่อเข้าปฏิบัติการทางด้านจิตวิทยา โดยใช้วิธีประกาศให้พื้นที่ ตำบลสะเอียบเป็นเขตภัยภิบัติ ประสบความแห้งแล้งเป็นข้ออ้างในการนำทหารเข้าพื้นที่
นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าพื้นที่ ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจาก NGO สายนักศึกษาธรรมศาสตร์ และลูกหลานชาวสะเอียบที่จบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้จ้างอาจารย์จากโรงเรียนสูงเม่น จ.แพร่ เพื่อสร้างกระแสมวลชน ในการสนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น
เครือข่ายพิทักษ์แม่น้ำยม ขอประณามพฤติกรรมเผด็จการ ใช้อำนาจ ใช้กำลังทหาร ในการปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งที่การศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเอง ได้ศึกษาด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน เป็นโครงการที่ไม่สมควรกับการลงทุน
อีกทั้ง การศึกษา การวิจัย ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้มีการศึกษามากว่า 10 ปี ก็มีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิ
1. การศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถเยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
2. การศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้ จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนมากกว่า
3. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ
4. การศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ สรุปว่ายังมีทางออกและทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ทั้งนี้ เครือข่ายพิทักษ์แม่น้ำยม ใคร่ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยย่อ ดังนี้
1. การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ
2. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม (การประกาศป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ ปลูกป่า ฯลฯ) นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุลอย่างยั่งยืน
3. การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน ฯลฯ
4. การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ซึ่งมากกว่าแก่งเสือเต้นเสียอีก)
5. การจัดการทางด้านความต้องการ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64%
การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน
6. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยมสามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
7. การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจากการขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในเมืองใหญ่ได้ อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
ท้ายนี้ เครือข่ายพิทักษ์แม่น้ำยม ขอให้พี่น้องประชาชนผู้รักความเป็นธรรมทุกท่าน ร่วมกันติดตาม ตรวจสอบ พฤติกรรมรัฐเผด็จการ ใช้อำนาจทหารฉ้อฉล และ ฉกฉวยสถานการณ์ รวมทั้งติดตามพฤติกรรมของพรรคการเมือง นักการเมือง ข้าราชการบางคน ที่เร่งรัด ผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ขออนุญาตฝากลิงค์นะคะ
คาสิโนออนไลน์ของเรา บริการรวดเร็ว ประทับใจ 24 ชม. สมัครวันนี้ เพื่อเริ่มต้นประสบการณ์การเดิมพันคาสิโนออนไลน์ที่น่าตื่นเต้น ที่นี่เลยค่ะ
https://www.111player.com