วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ไทยกับ OIC (1)
มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1297
สืบเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ตอนล่างของไทย ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากแถลงการณ์ ขององค์การการประชุมอิสลาม (Organization of the Islamic Conference) หรือ OIC โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรณีมัสญิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโล๊ะ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 32 คน และกรณีการชุมนุมที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ จนนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวน 81 คน (เสียชีวิตในขณะที่มีการสลายม็อบจำนวน 6 คน และเสียชีวิตขณะถูกลำเลียงไปค่ายอิงคยุทธบริหารจำนวน 75 คน) ทั้งสองเหตุการณ์เกิดในปี 2547 ในระยะเวลาห่างกันไม่กี่เดือน (28 เมษายน และ 25 ตุลาคม 2547)
จากเหตุการณ์ดังกล่าว อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้ส่งตัวแทนพิเศษ (Special envoy) ประกอบด้วย นายนิสสัย เวชชาชีวะ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย นายมหดี วิมานะ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน และผมไปพบ นายเอ็กมิลิดดีน อิห์ซาโนกลู เลขาธิการ OIC ชาวตุรกี เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในสี่จังหวัดภาคใต้ของไทย ที่กรุงญิดดะฮ์ (Jedda) เมืองท่าริมทะเลแดง ประเทศซาอุดีอาระเบีย
พร้อมกันนี้กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ OIC ให้เดินทางมาเยือนไทย เพื่อรับทราบถึงสถานการณ์จริง ทั้งนี้ OIC ได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ของตนมาเยือนในระหว่างวันที่ 2-13 มิถุนายน 2548 คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ OIC ประกอบไปด้วย นายซัยยิด กาซิม อัลมัสริ (Syed Gasim Almasri) เป็นหัวหน้าคณะ (Head of Delegation) นายซัยยิด กาซิม อัลมัสริ เป็นอดีตผู้ช่วยเลขาธิการ OIC มาก่อน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เป็นเอกอัครราชทูตถาวรของอียิปต์ประจำสันนิบาตอาหรับ (Arab League) และเป็นเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศต่างๆ หลายประเทศ
ในคราวที่ผมได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปประชุมระดับรัฐมนตรีของ OIC กับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ในฐานะที่ปรึกษาที่ประเทศบูร์กีนาฟาร์โซ แอฟริกาตะวันตกนั้น นายซัยยิด กาซิม อัสมัสริ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการประชุมหลัก
นอกจากหัวหน้าคณะแล้วคณะเจ้าหน้าที่ของ OIC ก็ประกอบไปด้วยศาสตราจารย์ ดร.อุมัร ญาห์ (Prof.Dr.Omar Jah) อดีตเอกอัครราชทูตแกมเบียในหลายประเทศ เคยเป็นศาสตราจารย์ทั้งในประเทศแกมเบีย และมาเลเซีย จบการศึกษาทั้งจากอียิปต์ และแคนาดา จึงเชี่ยวชาญทั้งภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ มีความรู้ทางปรัชญาอย่างลึกซึ้ง จากการที่ผมได้ร่วมเดินทางไปพร้อมกับคณะของ OIC พบว่า ศ.อุมัร ญาห์ จะเลือกเสนอความคิดในสถานศึกษา และศูนย์กลางอิสลามเป็นด้านหลัก
นายซัยยิด กาซิม อัลมัสริ หัวหน้าคณะเล่าประวัติของ ศ.อุมัร ญาห์ ให้ผมฟังว่าเขาเป็นคนที่มีน้ำอดน้ำทนสูง ด้วยความตั้งใจที่จะมาเรียนในมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ในอียิปต์อันเป็นที่นิยมของชาวมุสลิมทั่วโลก ในขณะที่อียิปต์ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เขาใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าเปล่าถึง 2 ปี จึงมาถึงกรุงไคโร โดยที่ทางบ้านคิดว่าเขาอาศัยอยู่ในประเทศโมร็อกโก จากการได้มีโอกาสพูดคุยเป็นเวลานานพบว่า ศ.อุมัร ญาห์ เป็นผู้ที่นิยมแนวทางสันติอย่างยิ่ง
นายอับดัลละฮ์ อะห์มัด อัลคารับช์ (Abdalla Ahmad Al-Karabsh) ชาวลิเบีย ผู้อำนวยการแผนกชนกลุ่มน้อยมุสลิม เป็นคนเคร่งขรึมเอาจริงเอาจัง มีข้อมูลเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมจำนวนมาก และศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน เป็นอดีตตัวแทนของลิเบียประจำประเทศต่างๆ มาแล้วหลายประเทศ
นายตอฮีร อะห์มัด ซาอีฟ (Tahir Ahmad Saif) ชาวเยเมน รองผู้อำนวยการแผนกชนกลุ่มน้อยมุสลิม ซึ่งมาปักหลักอยู่ที่นครญิดดะฮ์ เป็นเวลายาวนานเพื่อศึกษาติดตามเรื่องชนกลุ่มน้อยมุสลิม และ นายฮามัด อิบรอฮีม (Hamad Ibrahim) จากหน่วยข่าวอิสลาม (Islamic News Agency) ของ OIC ซึ่งจดบันทึกการเดินทางครั้งนี้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน
อาจกล่าวได้ว่า แม้ตัวเลขาฯ OIC เองจะมิได้เดินทางมาในครั้งนี้ แต่คณะเจ้าหน้าที่ที่ OIC ส่งมาก็นับได้ว่าเป็นผู้มีประสบการณ์อย่างสูง
สำหรับโลกมุสลิม OIC คือสหประชาชาติมุสลิมของพวกเขา OIC มีกองทุนการเงินขนาดใหญ่ ที่จะคอยส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ของชาวมุสลิม ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (Islamic Development Bank) ซึ่ง ศ.อุมัร ญาห์ เคยเป็นกลุ่มผู้บริหารก็สังกัดอยู่ใน OIC สำหรับนักศึกษาไทยมุสลิมที่เรียนด้านการแพทย์ วิศวกรรม เภสัชกรรม พยาบาล วิทยาศาสตร์ จะสามารถกู้ยืมได้จาก IDB และจะทยอยใช้ทุนคืนเมื่อจบการศึกษาและมีงานทำแล้ว ทุนกู้ยืมดังกล่าวมีมาเป็นเวลานานแล้วในประเทศไทย นอกเหนือไปจากโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดต่างๆ แล้ว สถานศึกษาบางแห่ง เช่น โรงเรียนอิสลามสันติชน ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสอนทั้งสามัญและศาสนาก็ได้รับเงินสนับสนุนก้อนใหญ่จาก IDB เช่นกัน
สำหรับผู้ติดตามฝ่ายไทยก็มีผม นายมหดี วิมานะ, นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ อุปทูต ณ กรุงริยาฏ, นายบัญญัติ ยุมยวง กงสุลสถานกงสุลใหญ่ ณ กรุงญิดดะฮ์, นายเปายี แวสะแม ล่ามสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาฏ, นายสืบสกุล คำโมง จากกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา, นายอิทธิ กวีพลสกุล เลซอง จากสำนักนายกรัฐมนตรี, นายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลอีกจำนวนหนึ่ง
ระหว่างการเดินทางหัวหน้าคณะของ OIC นายซัยยิด กาซิม อัลมัสริ จะพูดเสมอว่ารู้จักเรื่องราวความไม่สงบในภาคใต้ของไทย จากสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มีแต่มโนภาพและจินตนาการ คิดไม่ออกว่าชาวไทยมุสลิมมีสภาพที่แท้จริงอย่างไร
ก่อนเดินทางกลับหนึ่งวัน นายซัยยิด กาซิม อัลมัสริ บอกกับผมว่ามาเมืองไทยถ้าคิดเป็นตัวเลขคือศูนย์ แต่ก่อนกลับจากศูนย์กลายเป็น 10 คะแนนเต็ม
คณะของ OIC ได้ไปเยือนสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นแห่งแรก ในวันที่ 2 มิถุนายน 2548 โดยมีสำนักจุฬาฯ และคณะให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นที่คลอง 9 เขตหนองจอก กทม. หลังการแนะนำตัวของทั้งสองฝ่ายก็มีการสรุปถึงอำนาจหน้าที่ การทำงานของสำนักจุฬาฯ ซึ่งมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า ชาวไทยมุสลิมมีชีวิตอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยอย่างอิสระเฉก เช่นศาสนิกอื่นๆ ในประเทศ ทุกศาสนาอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ไทย รัฐบาลไทยได้จัดสรรที่ดินประมาณ 50 ไร่ ในเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้สร้างอาคารสำนักจุฬาราชมนตรี หอประชุมและอาคารมัสญิด รวมถึงอาคารอื่นๆ อีกหลายอาคารที่จะก่อสร้างในอนาคตบนที่ดินแปลงนี้ เพื่อใช้บริหารกิจการอิสลามและเป็นสถานที่ใช้ติดต่อกับต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกอาหรับ ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในประเทศไทยได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์เกือบ 400 ปีที่ผ่านมา และจุฬาราชมนตรีคนปัจจุบันเป็นคนที่ 17 โดยจุฬาราชมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้กรอบแห่งกฎหมายของราชอาณาจักรไทย ที่สอดคล้องกับหลักบัญญัติศาสนาอิสลามเกี่ยวกับกฎหมายครอบครัว และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
ในเวลาเดียวกัน จุฬาราชมนตรียังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลมัสญิดในประเทศไทยที่มีมากกว่า 3,600 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ออกเครื่องหมายฮาลาล ให้แก่อาหารที่ได้รับการรับรองว่าถูกต้องตามบัญญัติศาสนาอิสลาม และสำนักจุฬาราชมนตรี มีหน้าที่รับผิดชอบด้านอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ ด้านการเผยแผ่หลักการศาสนาอิสลามที่ถูกต้องทางสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุประจำวัน และนิตยสารประจำเดือน นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดสัมมนา ต้อนรับแขกทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเยาวชนทางภาคใต้ของประเทศไทย และทุกๆ เดือน จะมีการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อตอบปัญหาศาสนาที่หน่วยราชการ และประชาชนทั่วไป
สภาพความเป็นอยู่ของชาวไทยมุสลิมมีความสงบสุขและความมั่นคง นอกจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสภาพเปราะบางและอ่อนไหว โดยรัฐบาลไทยได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในการนี้สำนักจุฬาราชมนตรี ได้มีส่วนร่วมที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำหลักการที่ถูกต้องของศาสนาอิสลามไปเผยแผ่กับพี่น้องชาวใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชนและวัยรุ่น
หลังการบรรยายสรุป ทางหัวหน้าคณะและคณะของ OIC กล่าวถึงการมาเยือนประเทศไทยว่า เมื่อมาถึงก็ตั้งใจมาเยือนจุฬาราชมนตรี และดีใจที่ได้มาเยี่ยม ขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้เชิญ OIC มาติดตามสถานการณ์ และทำอย่างไร OIC จะมีโอกาสร่วมทำให้ภาคใต้เกิดความสงบสุข ทั้งนี้ OIC มีความมุ่งหมายจะเยี่ยมเยือนชาวมุสลิมไทยซึ่งไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็เป็นพี่น้องกัน อย่างไรก็ตาม OIC จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการภายในของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะดำเนินการเอง จากนั้นก็มีการซักถามจากคณะ OIC ในประเด็นต่างๆ และในการตอบประเด็นปัญหาต่างๆ นายประสาร ศรีเจริญ ได้ตอบในนามสำนักจุฬาฯ สรุปได้ดังนี้
พี่น้องมุสลิมในประเทศไทย มีความผูกพันกับรัฐ ไม่เคยมีปัญหาแม้จะเป็นชนส่วนน้อย ในอดีตที่ผ่านมามีชาวมุสลิมเข้าไปอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญหลายคน ในการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรีมีจุดยืนสำคัญได้แก่ การดูแลมัสญิดและพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย องค์กรศาสนาอิสลาม มีคณะกรรมการกลาง กรรมการจังหวัด และกรรมการประจำมัสญิด
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า จุฬาราชมนตรีได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการอิสลามทุกจังหวัดที่มีมุสลิม มิใช่จากการชี้นำโดยรัฐ แต่เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว ก็จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ โดยพระมหากษัตริย์
หน้า 25

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะสำหรับบทความดีๆ

i muslim

Unknown กล่าวว่า...

Goldenslot.netเว็บเล่นสล็อตออนไลน์ ที่มีเกมสล็อต ให้เล่นมากกว่า 1,000 เกม มีเกมใหม่ๆ อัพเดทให้เล่นตลอดนอกจากนี้ยังมีระบบ ฝาก - ถอน ที่รวดเร็ว ปลอดภัย ทำให้เรามีฐานลูกค้าจำนวนมากที่เลือกใช้บริการกับเว็บไซต์ Goldenslot.net ของเรา นอกจากนี้เรายังมีทีมงาน Call Center มืออาชีพคอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง golden slot