วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

PPBI: Beauty
ปกิณกะความงาม: ร่างกาย ความงามอย่างไร้สติตามธรรมชาติ
ความเสี่ยง ความเสื่อม สุขภาพ และตัวตน[1](1)
วิจิตร ว่องวารีทิพย์
(1) บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “ร่างกาย เสน่ห์ อัตลักษณ์ และความเท่าเทียมเรื่องสุขภาพในสังคมไทย” ภายใต้ชุดโครงการเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย โดยการสนับสนุนของฝ่ายมนุษยศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

“หากย้อนเวลาไปสักรุ่นปู่ย่าได้ เราคงไม่ต้องกังวลว่าผักสีเขียวที่เรารับประทานเข้าไปปลอดภัยจากสารพิษหรือยัง เพราะอย่างน้อยก็เชื่อว่าปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการได้รับสารพิษ ทั้งน้ำ อากาศ และสิ่งปนเปื้อนที่มีอยู่ในดิน คงไม่เท่าปัจจุบันที่แวดล้อมไปด้วยมลพิษที่บั่นทอนสุขภาพของเรา อีกทั้งพืชผักที่เรารับประทานเข้าไปก็ยังแน่ใจไม่ได้ว่าปลอดสารพิษแค่ไหน”[2](2)

“ในปัจจุบันคนเราเจ็บป่วยและแก่ชราไม่ใช่สาเหตุจากเชื้อโรคเท่านั้น ตัวการสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เราเจ็บป่วยและมีอวัยวะที่เสื่อมถอยมีชื่อว่า อนุมูลอิสระ... นอกจากนั้น อนุมูลอิสระยังเกิดมากขึ้นจากสภาวะอื่นๆ เช่น มลภาวะ รวมทั้งยาฆ่าแมลงจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ควันบุหรี่ …ภาวะอักเสบ และความเครียด”[3](3)

“ถ้าเปรียบสนิมเป็นตัวการทำให้เหล็กผุกร่อน อนุมูลอิสระก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อวัยวะต่างๆของร่างกายเกิดความเสื่อมเช่นเดียวกัน… เจ้าอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้ ก็จะวิ่งไปทำลายเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดความเสื่อมขึ้น โดยเราสามารถสังเกตเห็นความเสื่อมที่ว่านี้ด้วยตาเปล่าด้วยตัวเองอย่างง่ายๆ ความเหี่ยวย่น การเกิดฝ้าและกระ ริ้วรอยร่องลึกบนในหน้า การขาดความชุ่มชื้น และความไม่เปล่งปลั่งของผิวพรรณ”[4](4)

(2) [1] ข้อความโฆษณาจากเอกสารของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นอ่อนจากข้าวสาลี (Wheatgrass) และอัลฟัลฟ่า
(3) ข้อความจากเอกสารโฆษณาของผลิตภัณฑ์ Marepine สารสกัดจากเปลือกต้นสนฝรั่งเศส โดยบริษัท NUVANTA
(4) ข้อความจากเอกสารโฆษณาของผลิตภัณฑ์ Brand สารสกัดจากเมล็ดองุ่น โดยบริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด

จากคำกล่าวที่ยกมาจากโฆษราข้างต้น ดูเหมือนว่า สภาพที่แวดล้อมคนเราทุกวันนี้เป็นสภาพ “สังคมความเสี่ยง” ซึ่งง่ายที่จะนำพาร่างกายเราไปสู่ความเสื่อมโทรมที่เรียกว่า ‘ความเสียหายชำรุดในร่างกาย’ (the brokenness of bodies) หรือ ‘ความขัดข้องของกลไกในการทำงานภายในกาย’ (a breakdown in bodies) ดังเช่นที่สะท้อนออกมาผ่านความเสื่อมทางผิวหนังและใบหน้า ความเสียหายชำรุดดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อตัวตนทางสังคมของเจ้าของร่างกายนั้นๆ ทั้งนี้ นั่นเพราะร่างกายคือ ชิ้นงานการถักทอของการมีตัวตนในโลก (the fabric of one’s being-in-the world)[5](5) หากร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงในระดับที่เจ้าของร่างกายยอมรับไม่ได้ นั่นอาจทำให้ความเป็นตัวตนของปัจเจกแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ (the fracture in the structure of the self) จึงอาจสรุปได้ว่า แท้จริงแล้วร่างกายนั้นก็คือ สิ่งที่ตัวตน (the self) ภายในถูกแสดงออกมานั่นเอง ฉะนั้น ณ จุดที่ความเสื่อมทางกายได้สร้างผลลบต่อตัวตนทางสังคมของเจ้าของร่างกาย ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในร่างกายจึงยื่นมือเข้ามาพร้อมข้อเสนอในการช่วย “จัดการ” กับภาวะล่มสลายของการแสดงออกแห่งตัวตนทางสังคมของปัจเจก

(5) Drew Leder, The Absent Body, (Chicago: Univ. of Chicago Press, 1990), p.80 cited in Rosalyn Diprose, “The Body Biomedical Ethics Forgets,” in Troubled Bodies: Critical Perspectives on Postmodernism, Medical Ethics, and the Body, ed. Paul A. Komesaroff (Durham and London: Duke Univ. Press, 1995), pp.208-9.

สังคมความเสี่ยงมีอยู่จริงๆหรือไม่
ก่อนที่จะก้าวไปสู่ข้อเสนอของแต่ละธุรกิจอุตสาหกรรมที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ปัญหาที่น่าคิดได้แก่ “สังคมความเสี่ยง” ที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆหรือไม่ คำตอบต่อปัญหาข้างต้นมีอยู่ 2 แนวทาง

- แนวทางแรก เป็นการมองแบบไม่ค่อยเชื่อใจนัก และเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า “สังคมความเสี่ยง” เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นโดย ‘ตลาด’ เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในร่างกายรูปแบบต่างๆ และพยายามกระตุ้นให้ผู้บริโภคในฐานะปัจเจกวิตกกังวลต่อ “ความเสี่ยง” ทั้งหลายที่รายล้อม อันจะนำไปสู่ความชำรุดทางกายหรือความเสี่ยงทางสุขภาพ

- แนวทางที่สอง มองว่า สังคมกำลังก้าวเข้าสู่ความเสี่ยงจริงๆ ทว่า เป็นความเสี่ยงในระดับที่ใหญ่กว่าความเสื่อมโทรมทางกายของแต่ละปัจเจก นั่นคือ เป็นความเสี่ยงที่ชุมชนโลกทั้งหมดต้องเผชิญหน้ากับสภาวะผันผวนของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังระบบการผลิตอาหาร และคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ทุกคนในที่สุด ความคิดเห็นต่อ “สังคมความเสี่ยง” ในแนวทางหลังนี้ จะได้อภิปรายต่อไปในหัวข้อสุดท้าย

สุขภาพภายใต้สังคมความเสี่ยงและ ‘ตลาด’
ย้อนกลับมาที่ข้อเสนอของแต่ละอุตสาหกรรมในการจัดการกับความเสื่อมทางสุขภาพ ท่ามกลาง “สังคมความเสี่ยง” คำถามคือ ‘ตลาด’ มีกระบวนการอย่างไรในการเข้ามาพูดเรื่องสุขภาพโดยเชื่อมโยงกับ “ความเสี่ยง” ? และ ‘ตลาด’ พูดถึงความเสี่ยงในลักษณะไหน ?

นอกเหนือไปจากตัวละครหลักในการพูดเรื่องสุขภาพอย่างรัฐ (ร่วมกับสถาบันทางการแพทย์) แล้ว ในช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ตัวละครที่สองอันได้แก่ แรงขับเคลื่อนทางตลาดหรือภาคธุรกิจอุตสาหกรรม มีบทบาทเด่นและค่อนข้างเป็นอิสระจากรัฐ ยิ่งเมื่ออยู่ท่ามกลางสภาวะทางสังคมที่เส้นแบ่งพรมแดนทางภูมิประเทศเดิมจางคลายลง อันเนื่องมาจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ (economic globalization) ตลาดยิ่งเข้ามามีอิทธิพลกำหนดทิศทางชีวิตของผู้คนในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลลบจากการที่ตลาดมีเหนือวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในวงกว้าง ได้ส่งผลให้เกิดกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางสังคม (social globalization) ซึ่งให้กำเนิดตัวละครหลักตัวที่สาม – ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม – เพื่อมาคาน ถ่วงดุล และค้านอำนาจของตลาด แรงต้านและพลังแห่งการวิพากษ์ของกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางสังคมเริ่มเห็นครั้งแรกในช่วงต้นคริสตทศวรรษที่ 1990[6](6) ประเด็นหลักร่วมกันของกระบวนการดังกล่าวคือ การเน้นถึงแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงระบบนิเวศวิทยาและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ทุกคน

(6) การประชุมสำคัญๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาแบบเดิมที่มุ่งเน้นแต่ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ได้แก่ การประชุมสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (the UN Conference on Environment and Development - UNCED) ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ในปี ค.ศ.1992 ตามมาด้วยการประชุมสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน (the UN Conference on Human Rights) ที่กรุงเวียนนาในปี 1993 การประชุมนานาชาติด้านประชากรและการพัฒนา (the International Conference on Population and Development - ICPD) ที่กรุงไคโร ในปี 1994 และการประชุมโลกด้านการพัฒนาสังคม (the World Summit on Social Development) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ในปี 1995

หลังการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมในปี 1992 ปรากฏการณ์ระดับโลกที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่ในหมู่ประชาชนทั่วไป สินค้าหลายตัวในตลาดมียอดขายลดลง เพราะถูกมองว่ามีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ตลาดภายใต้สังคมบริโภคนิยมก็ฉลาดพอที่จะฉวยใช้ความตื่นตัวดังกล่าวมาเป็นประโยชน์กับตนเอง สิ่งที่เรียกว่า การทำการตลาดสีเขียว (green marketing) จึงเกิดขึ้น เช่น การมีฉลากติดข้อความว่า ‘สินค้ารีไซเคิล’ ‘สินค้าย่อยสลายได้’ ‘สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้’ หรือ ‘เป็นมิตรกับชั้นบรรยากาศ’[7](7) นอกจากนี้ เมื่อกระแส ความถูกต้องทางการเมือง (political correctness - PC) หรือความเคารพในศักดิ์ศรีของมนุษย์ การไม่กดขี่เอารัดเอาเปรียบกันและการไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเพศ อายุ เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ศาสนา ชนชั้น หรือการมีสภาพร่างกายสมบูรณ์ / พิการ เข้ามาเป็นประเด็นเด่น อุตสาหกรรมต่างๆ ในตลาดก็ไม่ลืมที่จะกระโจนเข้าสู่กระแสดังกล่าวด้วย
(7) ตติกานต์ อุดกันทา, “Greenwash & Brainwash 5 อันดับนักสร้างภาพ ‘กรีน’,” a day weekly, ปีที่ 1 ฉบับที่ 52 (12-18 พฤษภาคม 2548), หน้า 46.

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางสังคมและตลาดนี้เอง ที่สร้างความหมายใหม่ให้กับคำว่า “สุขภาพ” เป็นความหมายของ “สุขภาพ” ที่ซับซ้อน เนื่องจากได้สอดแทรก / สวมใส่ส่วนผสมของ “คุณธรรม” ลงไป นั่นคือ ตัวสินค้าที่ตลาดผลิตขึ้นนั้น มีทั้งส่วนผสมของ ‘การตลาดสีเขียว’ และส่วนผสมที่เป็น ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ ซ้อนทับกันอยู่ ยิ่งหากได้ศึกษาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในร่างกาย ซึ่งมีลักษณะการฉวยใช้ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง และเป็น ผู้ผลิตอุดมการณ์หลักในเรื่องความงาม (the Primary Producers of Beauty Ideology: PPBI)[8](8) ที่มี “สุขภาพ” เป็นร่างเงาควบคู่กันมา เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในร่างกายทั้งหลาย เราจะเห็นได้ถึงการทับซ้อนหรือ(บางกรณีเป็น)การกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกันของตัวสินค้ากับแนวคิดต่างๆ ข้างต้น 99999999999

(8) ผู้วิจัยปรับคำนี้มาจากงานของ Gayle Rubin ที่กล่าวถึงสถาบันหลักๆ ที่ผลิต/ รักษา/ ธำรงอุดมการณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศวิถี (the primary producers of sexual ideology) อันได้แก่ รัฐและกฎหมายของรัฐ สถาบันศาสนา สถาบันทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ครอบครัว สถาบันการศึกษา สื่อ เป็นต้น โดยที่สถาบันเหล่านี้ได้สร้างช่วงชั้นทางสังคมในเรื่องเพศ (sexual stratification) พร้อมๆ กับสร้าง “มาตรฐานที่ดีงาม” เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศมาตรฐานเดียว และตั้งแง่รังเกียจคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีวิถีทางเพศต่างออกไป อันรวมไปถึงกลุ่มที่ถูกจัดให้เป็น “ชนกลุ่มน้อยในเรื่องการสังวาส” (erotic minorities) เช่น S/M และ transsexuals โปรดดู Gayle Rubin, “Thinking Sex: Notes for a Radical Theory of the Politics of Sexuality,” in Pleasure and Danger: Exploring Female Sexuality, ed. Carole S. Vance (Boston and London: Routledge & Kegan Paul, 1984), pp.267-319.

เหตุที่ PPBI เหล่านี้ – ซึ่งเดิมมุ่งเน้นเฉพาะการสร้างอุดมการณ์ความงาม – หันมาพูดเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก เหตุผลสำคัญก็เนื่องมาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (wellness) ในนามของ “สุขภาพ” มีแนวโน้มว่าจะเป็นธุรกิจแห่งอนาคต ทั้งนี้ เป็นเพราะธุรกิจนี้ได้ “ตอบรับ” (และ/ หรือสร้างความต้องการให้แก่) กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่เกิดในยุคเบบี้บูม และขณะนี้มีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 37 ปีถึง 50 ปี อันเป็นช่วงวัยแห่งชีวิตที่มีความมั่นคงทางการงานและการเงิน ทว่า ร่างกายค่อยๆ สูญเสียกำลังวังชาไปตามวัย และไปตามความเครียดที่เพิ่มขึ้นตามภาระรับผิดชอบ ขนาดของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้เอง ที่ส่งผลต่ออุปสงค์สินค้าประเภทที่จะช่วยให้ตนเองยังคงดูดี เยาว์วัย และฟิต ในนามของ “สุขภาพดี” และ “ความเป็นอยู่ที่ดี”(9)[9]

(9) หนึ่งในธุรกิจที่โดดเด่นในการขายสินค้าประเภทนี้ได้แก่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ในการอบรมผู้จำหน่ายปลีก (distributor) รายใหม่ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมขายตรงแบรนด์หนึ่ง ได้มีการเน้นย้ำถึงกำไรและโอกาสทางธุรกิจของธุรกิจด้านความเป็นอยู่ที่ดี (Wellness industry) โดยการ

(ก) ใช้กลยุทธ์ประจักษ์นิยม สร้างความน่าเชื่อถือผ่านการอ้างตัวเลข เช่น ขนาดหรือจำนวนผู้บริโภคที่ต้องการรักษาสุขภาพทั่วโลก จำนวนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเสื่อมลง (อ้วน มะเร็ง เบาหวาน ฯลฯ) ซึ่งนับวันจะมีแต่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมูลค่าเป็นตัวเลขดอลล่าร์สหรัฐของอุตสาหกรรมนี้ และ

(ข) อ้างอิงงานเขียน The Wellness Revolution: How to Make a Fortune in the Next Trillion Dollar Industry ของ Paul Zane Pilzer ผู้ซึ่งเป็น “นักเศรษฐศาสตร์เลื่องชื่อชาวอเมริกัน ที่ปรึกษาอดีตประธานาธิบดีอเมริกันถึง 2 สมัย และเป็นผู้ที่ได้ทำนายไว้ล่วงหน้าอย่างถูกต้องมาแล้ว ถึงปรากฏการณ์อันน่าระทึกใจของระบบอินเตอร์เน็ต ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมหาศาลในชีวิตประจำวันในทศวรรษที่ผ่านมา” โดยกล่าวว่านักเศรษฐศาสตร์คนดังกล่าว คาดการณ์ไว้ว่า “ธุรกิจด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี จะเป็นธุรกิจที่มาแรงที่สุดในช่วงทศวรรษนี้ จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี และจะสร้างความร่ำรวยมหาศาลแก่คนที่เข้าสู่ธุรกิจนี้” (Best Small Business/ Thailand, “ข้อเท็จจริงที่น่าตื่นเต้นของ 3 กระแสเศรษฐกิจกับแนวโน้มธุรกิจในอนาคตที่เริ่มต้นแล้วในปัจจุบัน,” เอกสารฝึกอบรมธุรกิจ แนวโน้มของธุรกิจในอนาคต: โอกาสของคนรุ่นใหม่, ไม่ปรากฏเลขหน้า)

ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนร่างกายเพื่อจัดการกับความเสี่ยงทางสุขภาพนั้น มีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่เน้นปฏิบัติการลงทุนจากภายนอกร่างกาย เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ธุรกิจแฟชั่น

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่เน้นปฏิบัติการที่ทำให้งามจากภายในผ่านการรับประทานเข้าสู่ร่างกาย อันได้แก่ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหารเสริม และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

ในการทำการตลาดของแต่ละธุรกิจข้างต้น แน่นอนว่าความงามคือ แกนกลางของจุดขายของทุกๆ ผลิตภัณฑ์ กระนั้นก็ดี ท่ามกลางกระแสรักสุขภาพและกระแสความเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น กระแสรักสิ่งแวดล้อม กระแส ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้ก็ไม่ลืมที่จะฉวยใช้ความนิยมในกระแสเหล่านั้น เพื่อสร้างภาพสินค้ามีคุณธรรมให้กับตน สินค้าเหล่านั้นจึงดู “มีคุณธรรม” และเป็นที่นิยมของลูกค้าส่วนหนึ่ง เนื่องจากผลพลอยได้หนึ่งที่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จะได้รับคือ คุณค่าเชิงสัญลักษณ์ (sign-value) ที่ ‘ตลาด’ ผลิตขึ้น เช่น การมีสถานะเป็น “ผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม” การที่ความกลมกลืนกันของคำสองคำ - “สุขภาพ” และ “ความงาม” - ดังกล่าว ถูกแสดงออกมาบนเนื้อตัวร่างกายของปัจเจก ส่งผลให้ร่างกายถูกแปรสภาพเป็นพื้นที่ให้ความหมายแก่สถานะทางสังคม และระดับจิตสำนึกหรือระดับคุณธรรมของเจ้าของร่างกายไปโดยอัตโนมัติ

กระบวนการกลืนกินเป็นเนื้อเดียวของ 3 องค์ประกอบข้างต้น (สุขภาพ คุณธรรมชุดใหม่ และความงาม หรือ health-morality-beauty) ที่ PPBI ประกอบสร้างขึ้นยังแฝงนัยซ่อนเร้นไว้ว่า หากผู้ใดสามารถปฏิบัติตนให้บรรลุเป้าแห่ง 3 องค์ประกอบนี้แล้ว นั่นย่อมหมายถึงเสน่ห์และการประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในหน้าที่การงานหรือในความสัมพันธ์ ดังตัวอย่างโฆษณาสิ่งพิมพ์ของเครื่องสำอางประทินผิวยี่ห้อหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า ภายใน 14 วันหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ ผู้หญิงคนหนึ่งถูกขอแต่งงานจากผู้ชายที่อายุน้อยกว่าเธอถึง 10 ปี แม้กระนั้น คำว่า sex ในงานนี้ มิได้มีความหมายเพียงแค่ ‘ความปรารถนาทางเพศ’ อย่างที่ตัวศัพท์สื่อนัยเท่านั้น หากแต่กินความกว้างไปถึงเสน่ห์ ตัวตน และความพึงพอใจในตัวเอง ของปัจเจก

ทั้งหมดนี้คือ การทำงานของ “ระบบ” หรือกรอบ sex-health-beauty-morality ที่ PPBI นำมาใช้เพื่อให้เป็นทางออกจากความเสี่ยงและความเสื่อมต่างๆ บทความนี้จะเน้นการวิเคราะห์ PPBI 3 อุตสาหกรรมกล่าวคือ
- อุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเภทประทินผิว (skincare)
- อุตสาหกรรมอาหารเสริมในกลุ่มดูแลสุขภาพให้ปลอดจาก “ความเสื่อมชำรุด” และ
- อุตสาหกรรมอาหาร

ทั้งสามอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเท่าใดนี้ เชื่อมโยงกันอย่างไร? คำตอบคือ อย่างน้อยที่สุด ทั้งสามอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการลงทุนในร่างกายได้พูดถึงความเสื่อมทางกายเหมือนๆ กัน เป็นความเสื่อมชำรุดซึ่งถูกกล่าวถึง/ เชื่อกันว่า เป็นผลพวงของความเสี่ยงที่แวดล้อมและกำลังคุกคามผู้คนในสังคม จากนั้น แต่ละอุตสาหกรรมต่างก็เสนอทางออกหรือ “ทางรอด” ในแบบฉบับของตนเองแตกต่างกันไป ซึ่งมักหนีไม่พ้นการเสนอให้บริโภคสินค้าของตนเอง นอกเหนือไปจากการพูดถึงความเสี่ยง/ ความเสื่อมเหมือนๆ กันแล้ว ทางออกซึ่งแต่ละ PPBI นำเสนอมา ยังเหมือนกันใน 2 ประเด็น กล่าวคือ

ประการแรก มักมีการอ้างอิงผลงานการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้เป็นคำอธิบายที่ “สมเหตุสมผล” ต่อส่วนต่างลิบลับระหว่างราคาวางจำหน่ายกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง

ประการที่สอง มีการฉวยใช้ประโยชน์จากความเชื่อมั่นของผู้คนที่มีต่อสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ/ ความเป็นธรรมชาติ” ว่าจะสามารถเป็นหลักประกันถึงความปลอดภัย ปราศจากอันตรายใดๆ ต่อสุขภาพ

การบริโภคอันเป็น ‘สองทางรอด’ ที่ผู้ผลิตอุดมการณ์หลักในเรื่องความงามเสนอ ประกอบไปด้วย

(ก) การบริโภคในรูปของผลิตภัณฑ์รูปธรรม – เพื่อให้รอดพ้นจากปัญหาความเสี่ยงทางสุขภาพและถึงซึ่งความงามทางกาย และ

(ข) การบริโภคในรูปของผลิตภัณฑ์ที่เป็นอุดมการณ์ (เช่น การรักษาสภาพแวดล้อม การไม่ทำร้ายสัตว์ การช่วยเหลือโดยการกระจายรายได้สู่ชุมชน การเป็นแม่ที่ดี การเป็นผู้ที่รู้จักดูแลตนเองอย่างดีด้วยวิธีที่ถูกต้อง เป็นต้น)

เพื่อให้ได้มาซึ่งความงามที่ครบสูตร กล่าวคือ งามตั้งแต่ภายในร่างกาย (จิตใจงาม) จนแสดงออกมาเป็นความงามภายนอก ผลิตภัณฑ์รูปธรรมที่ทั้ง 3 อุตสาหกรรมผลิตขึ้นเหมือนกันตรงที่เป็นสิ่งที่ฉวยใช้ “ธรรมชาติ” และอ้าง R&D เหมือนๆ กัน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอุดมการณ์ จะเชื่อม “สุขภาพ” เข้ากับ ความงาม เสน่ห์ และคุณธรรมชุดใหม่เข้าไว้ด้วยกัน

อุตสาหกรรมประทินผิว: นำเข้าธรรมชาติ
ในการชี้ให้ผู้บริโภคกระจ่างชัดถึงสภาพความเสี่ยงที่รุมเร้า จนค่อยๆ สะสมและก่อให้เกิดเป็นความเสื่อมทางกายนั้น เครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประทินผิวมักนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่ เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่เป็น เครื่องมือตรวจวิเคราะห์สภาพผิว ทั้งนี้ เพื่อฉายให้ประจักษ์แจ้ง และจัดจำแนกประเภทผิวของลูกค้าแต่ละราย แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์นี้เป็นประดิษฐกรรมที่ทรงประสิทธิภาพอย่างยิ่งยวด ในการช่วยสร้างสิ่งที่เรียกว่า “สภาพปัญหาผิว” ให้กับผิวหน้าที่แปรเปลี่ยนไปตามธรรมดา (หมายความว่า แปรเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของวัยและการเปิดรับต่อสภาพอากาศ แดด และลม) โดยสิ่งที่เรียกว่า “สภาพปัญหาผิว” นี้ เกิดขึ้นจากกระบวนการที่เครื่องมือดังกล่าวเข้าไปปฏิบัติการสำรวจตรวจตรา และใช้เทคนิคการจับจ้อง (gaze) เข้าไปยังทุกตารางมิลลิเมตรของผิวหน้า จากนั้น ก็ขยายภาพผิวหนังออกมาให้เห็นกันได้อย่างชัดๆ พร้อมกับคำบรรยายการ “แปลผล” การสำรวจผิวโดยแพทย์หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ”

อันที่จริง วิธีการตรวจ “สภาพปัญหาผิว” ดังกล่าวพัฒนาขึ้นมาจากการใช้กระจกซึ่งมีกำลังขยายสูงมากๆ และการมีแสงสว่าง (ในระดับซึ่งมากพอที่จะช่วยในการเห็นสภาพผิวได้ชัดเจนแม้กระทั่งริ้วรอยเล็กๆและรูขุมขน) ที่แพทย์ผิวพรรณ ในยุคแรกๆ ใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาผิวหน้าของ“คนไข้” แต่เมื่อวงการแพทย์ผิวหนังได้นำวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยวิเคราะห์ – ตีความ - อ่านผลการตรวจสภาพผิว ผลการตรวจจากเครื่องมือใหม่นี้ดูเหมือนจะน่าเชื่อถือสูงกว่าในความรู้สึกของลูกค้า ในขณะที่วิธีการตรวจและวิเคราะห์ผิวแบบเดิมข้างต้น (ใช้เพียงกระจก และสายตาบวกความชำนาญเฉพาะของแพทย์) ถูกมองว่าเป็นเรื่องพ้นสมัยไปแล้ว สาเหตุสำคัญที่ทำให้เครื่องมือใหม่นี้ชนะใจลูกค้าก็คือ วิทยาศาสตร์ที่อุตสาหกรรมประทินผิวนำเข้ามาช่วยตรวจสภาพผิวนั้น เป็นอุปกรณ์ในลักษณ์เดียวกับกล้องถ่ายภาพยนตร์ (cinematic apparatus) ซึ่งเป็นสื่อที่พิเศษกว่าการภาพถ่ายนิ่ง หรือการถ่ายฟิล์มเอกซ์เรย์ตรงที่เชื่อถือได้ว่า ไม่มีการปลอมแปลงหรือตัดแต่งผลภาพ เพราะ “คนไข้” มีส่วนร่วมตลอดกระบวนการตรวจและวิเคราะห์สภาพผิวไปพร้อมๆ กับ “ผู้เชี่ยวชาญ”

อุปกรณ์ที่ทำงานแบบกล้องถ่ายภาพยนตร์ที่นำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมดูแลผิวพรรณดังกล่าว ได้สร้างความสมจริงให้แก่การวิเคราะห์และอ่านผลของ “ผู้เชี่ยวชาญ” นอกจากนี้ ร่างกาย (โดยเฉพาะผิวหน้า) กลับกลายเป็นสิ่งที่สามารถวัดได้ ถูกจัดการได้ และถูกนิยามใหม่ให้สอดคล้องกับความรู้ตามแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งหมดนี้ ส่งผลต่อการสร้างวินัยและจัดระเบียบให้มนุษย์ผู้เป็นเจ้าของ “ผิวหน้ามีปัญหา” ทั้งหลายกลายเป็น ‘มนุษย์เชื่องๆ’ (docile body) ไป

ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่ Cartwright สรุปว่า เป็น ‘เทคนิคการนำเสนอภาพตัวแทนแบบสมจริงเหมือนสารคดี’ (a documentary and realist mode of representation) ซึ่งถักทอให้ ‘การนำเสนอภาพตัวแทนร่างกายมนุษย์แบบวิชาชีพ’ ในวงการต่างๆ (professional representations of the body) กลืนกลายเป็นผืนเดียวกับ ‘ความหมายทางวัฒนธรรมที่สังคมประกอบสร้างขึ้นเพื่ออธิบายเกี่ยวกับร่างกาย’[10](10) ดังเช่นการที่ความหมายของ “ผิวสุขภาพดี” จะต้องเป็นไปตามที่ “ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณ” บรรยายไว้ คือ ผิวใสเนียนเรียบ ไม่มัน ไม่แห้ง ไม่มีสิว-ฝ้า-กระ และมีสีผิวสม่ำเสมอทั่วทั้งหน้า หากสภาพผิวมิได้เป็นไปตามนี้ จะถูกจัดให้เป็นผิวที่มีปัญหา

(10) Lisa Cartwright, Screening the Body: Tracing Medicine’s Visual Culture, (Minneapolis: University of Minnesota Press, 1995), pp.2-4.

เหตุใดอุปกรณ์ตรวจสภาพผิวที่ทำงานแบบกล้องถ่ายหนัง จึงก่อให้เกิด ‘มนุษย์เชื่องๆ’ ได้จำนวนมากมายขนาดนั้น ? คำตอบส่วนหนึ่งคือ นอกจากเทคนิคการบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้แล้ว อุปกรณ์ภายในกล้องที่มีเลนส์กำลังขยายสูงมากๆ ทำให้สิ่งที่เคยถูกซ่อนเร้นและ ‘เป็นส่วนตัว’ อันเนื่องมาจากมีขนาดเล็กและไม่สามารถเห็นได้ชัดๆ ด้วยตาเปล่า ถูกนำมา ขยาย และ เผยแสดงในที่สาธารณะ อย่างบนจอภาพขยาย และเพราะโดยมากแล้ว แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏบนจอจะเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเราเอง แต่สิ่งที่คุ้นเคยในร่างกายนั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นตาจนกระทั่งดูน่าตกใจไป เมื่อถูกเลนส์ภาพขยายให้ใหญ่ขึ้น ทั้งนี้เพราะเทคนิควิทยาดังกล่าวทำให้ “ความเสียหายทรุดโทรม” ของผิวหน้าของปัจเจก ซึ่งเคยเป็นเรื่องเฉพาะตัว กลายเป็นปัญหาสาธารณะที่คนอื่นๆ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ตรงนี้เองที่ทำให้ “คนไข้” ผู้เห็นภาพจากจอดังกล่าวเกิดไหวหวั่น และอาจตกอยู่ในสถานะยินยอมจำนนให้กับอำนาจที่เกิดจากการผนวก
(ก) “ความรู้ที่เกิดจากการได้ทัศนา” (visual knowledge) เข้ากับ
(ข) การให้ความหมาย/ ตีความ (ที่ดูเป็นกลาง) แบบวิทยาศาสตร์โดย “ผู้เชี่ยวชาญ” และ
(ค) ความเกรงกลัวการถูกจับจ้องด้วยสายตาประเมินจากภายนอก (objectifying/ evaluating gaze)

ผลที่ตามมาคือ ส่วนหนึ่งของผู้ที่มีรูปร่างหรือผิวหน้าออกนอกกรอบมาตรฐานของ “ค่า/ ตัวชี้วัดความปกติ” ที่เหล่า “ผู้เชี่ยวชาญ” กำหนดขึ้น อาจเกิดความรู้สึกผิดหรือละอายใจ ทั้งนี้ เนื่องมาจากความสำเร็จของ PPBI อย่างอุตสาหกรรมประทินผิวในการส่งผ่านอุดมการณ์ในทำนองว่า ‘ความทรุดโทรมของผิวมีสาเหตุมาจากความไร้วินัยในการควบคุมและดูแลตัวเองของปัจเจก’ และผิวหน้าอันอยู่ในสภาพ “ชำรุดเสียหาย” ขนาดนั้นย่อมสะท้อนได้ถึงการปล่อยเนื้อปล่อยตัวของตัวเจ้าของ ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งที่เรียกว่า ‘การก่อการร้ายทางคุณธรรม’ (moral terrorism) ชัดเจนขึ้นผ่านการยืมมือวิทยาศาสตร์ทันสมัย ในที่สุด หลังจากที่ตรวจสภาพและวิเคราะห์ผิวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว “คนไข้” ส่วนใหญ่จึงมักยินยอมให้ร่างกายตนเองถูกสอดส่องควบคุม (surveillance) และจัดการขั้นต่อไปโดย “ผู้เชี่ยวชาญ” เช่น ต้องไป “เก็บ” เอากระ - ติ่งเนื้อ ออกเสีย ต้องนวดหน้าด้วยครีมสูตรพิเศษเพื่อช่วยให้ผิวหน้าชุ่มชื้นหรือช่วยกระชับรูขุมขนที่กว้างเกินไป เป็นต้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า การใช้เครื่องมือเข้าไปสำรวจ สอดส่อง วิเคราะห์และให้ความหมายต่อร่างกาย มิใช่เป็นเรื่องเฉพาะของเทคนิคทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นปฏิบัติการทางวัฒนธรรมที่แทรกซึมในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างแบบแผนมาตรฐานหรือจัดแบ่งแยกประเภทให้กับร่างกาย[11](11)
(11) Ibid., p.5.

‘เทคนิคการนำเสนอภาพตัวแทนแบบสมจริงเหมือนสารคดี’ นี้เอง ที่ภาคธุรกิจด้านผิวพรรณนำมาฉวยใช้ และเสนอจุดขายในเรื่องความแม่นยำของผลจากการตรวจโดยเครื่อง ซึ่งความแม่นยำนี้เองถูกโฆษณาว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาผิวของลูกค้าได้ “อย่างถูกต้อง” และ “มีประสิทธิภาพสูงสุด” อย่างแบรนด์ลังโคม (Lancome) มีโปรแกรมตรวจวิเคราะห์ผิว Diagnos Expert ซึ่งมีความพิเศษตรงที่

“…ประกอบด้วยกล้องกำลังขยายสูง 60 เท่าซึ่งนับว่าสูงที่สุดในตลาดขณะนี้ ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์รับสัญญาณ ซึ่งสามารถวัดได้ทั้งระดับความลึกของริ้วรอย ปริมาณน้ำมันในผิว ความกระชับ รูขุมขน และจุดด่างดำ… มีคนจำนวนไม่น้อยที่ประเมินสภาพผิวของตนเอง ผิดไปจากความเป็นจริง จึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพผิว ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาผิวพรรณได้อย่างตรงจุด… การวิเคราะห์สภาพผิวด้วย Diagnos Expert จะช่วยให้ทราบสภาพผิวที่แท้จริง และช่วยให้ลำดับปัญหาของผิวที่ควรได้รับการปรนนิบัติก่อน-หลังได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลบำรุงผิวที่ตอบรับกับความต้องการที่แท้จริงของผิว”[12] (12)

(12) ตีพิมพ์ในเอกสารแจกสมาชิกที่ชื่อ My Lancome ฉบับเดือนกันยายน 2547 ภายใต้คอลัมน์ Ask the Expert หน้า 14

การใช้ทั้งภาษาภาพ-ภาษาเขียนในแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครื่องมือตรวจสภาพผิวที่ถูกทำร้ายดังที่ได้แจกแจงข้างต้น เป็นเทคนิควิทยาที่ก่อให้เกิดผลอย่างน้อย 2 ประการ

(1) การหยิบยืมเอาความเป็นวิทยาศาสตร์มาก่อรูปก่อร่างให้แก่ ‘ความเสียหายชำรุดในร่างกาย’ ที่ครั้งหนึ่งอาจเคยเป็นเพียงสิ่งที่อยู่ในห้วงคำนึงเท่านั้น ให้กลายเป็นรูปธรรมและประจักษ์แจ้งต่อสายตา และ

(2) สร้าง/ บิดเบือน และทำให้ความหมายของความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพตามธรรมชาติ - อันเนื่องมาจากวัย การใช้ชีวิตและการเปิดรับสิ่งแวดล้อม เช่น ลม แดด มลพิษ – กลายเป็นสิ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความหมายใหม่ของ “สุขภาพดี” (ซึ่งสื่อนัยถึงความงามและความอ่อนเยาว์) ที่ประกอบสร้างขึ้นโดย PPBI

ผลก็คือ นี่ได้เป็นแรงผลักดันอย่างดีให้ผู้บริโภคยินยอมพร้อมใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ราคาแพง เพื่อให้ตนเองไม่ถูกจัดจำแนกไปอยู่ในจำพวก “ร่างกายชำรุด” หรือเป็น “มนุษย์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว” (a human used up)[13](13) ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิควิทยาทางอำนาจซึ่งอุตสาหกรรมความงามค่อยๆ กระทำต่อผู้บริโภค โดยที่ผู้บริโภคอาจจะไม่มีวันรู้สึกเลยว่า ตนเองกำลังถูกกระทำอยู่ แต่กลับคิดว่าตนมีเสรีภาพและทางเลือกในการดูแลร่างกายตนเองมากขึ้นต่างหาก และนี่เองส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ความงามที่มีจุดขายที่ความเป็นตัวของตัวเอง และความมีอิสระเหนือร่างกายตนเองของผู้ใช้ นับวันจะสามารถทำยอดขายได้มากขึ้นเรื่อยๆ

(13) ผู้วิจัยปรับมาจากคำว่า “a woman used up” ที่ Iris Marion Young ใช้เชิงประชดเสียดสีบางสังคมที่เป็นปฏิปักษ์กับความแก่ ซึ่งส่งผลให้มองผู้หญิงที่หน้าอกหมดความเต่งตึงชูชัน (แต่กลับห้อยคล้อยตามวัยที่เพิ่มขึ้น) ว่าไร้ค่า เพราะแสดงถึงการหมดความสามารถในการเจริญพันธุ์

เมื่อปัจเจกหรือลูกค้าในอนาคตประจักษ์แจ้งแล้วถึง “ความเสื่อมชำรุด” ทางกายของตนเอง ลำดับขั้นต่อไปที่ธุรกิจบำรุงผิวพรรณนำเสนอต่อมา ได้แก่ การเสนอทางออกในการจัดการกับความเสื่อมนั้นๆ ซึ่งก็คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เพื่อ “ความต้องการเฉพาะ” ที่แตกต่างกันไปในลูกค้าแต่ละคนนั่นเอง

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดของการพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ ได้แก่ ความพยายามนำส่วนผสมจากธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อผลิตภัณฑ์ โดยนำมาแทนที่เครื่องสำอางยุคแรกๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากยา สารสังเคราะห์หรือฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งมุ่งเน้นการรักษาสิวให้เห็นผลรวดเร็วหรือทันที แต่อาจเป็นผลเสียต่อผิว สร้างผลข้างเคียงและไม่สามารถใช้ได้ทุกวัน ฉะนั้น นอกเหนือไปจากความปรารถนาที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้แล้ว การที่ธุรกิจจะสามารถสร้างอุปสงค์จำนวนมากๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ทุกวัน ดังนั้น ส่วนผสมจากธรรมชาตินานาชนิดจึงถูกใช้และนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ โดยอ้างสรรพคุณต่างๆในการช่วยบำรุงผิวพรรณ. ความสลับซับซ้อนของการ “นำเข้า” ธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการแข่งขันในธุรกิจประทินผิวสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว คำว่า “ธรรมชาติ” จึงมิได้หมายความเพียงสิ่งที่มาจากธรรมชาติและถูกผสมรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อครีมเท่านั้น แต่ “ธรรมชาติ” ที่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางฉวยใช้ ยังหมายถึง ความถูกต้องทางการเมืองในการใช้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ชุมชน หรือแม้กระทั่งทรัพยากรธรรมชาติ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ กรณีของแบรนด์ The Body Shop ซึ่งชูประเด็นเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ สู่สังคม ดังนั้น สินค้าของแบรนด์ตัวนี้จึงมาพร้อมกับคุณค่าทางสังคมเรื่องต่างๆ ตามกระแส ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ เช่น การรณรงค์ลดจำนวนขยะด้วยหลัก reuse, refill, and recycle; การตรงไปตรงมากับลูกค้าโดยบอกว่า สินค้าของตนใช้วัตถุกันเสีย สี และกลิ่นสังเคราะห์[14] (14); การคุ้มครองสิทธิสัตว์โดยการไม่ใช้สัตว์มาทดลองประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์; สนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยการประชาสัมพันธ์ว่า “ใช้ภาษาในการค้า 25 ภาษา” เป็นต้น

(14) กรรณิการ์ พรมเสาร์, “เขียวข้ามโลก,” กรีนคอนซูเมอร์, (นนทบุรี: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, 2544), หน้า 85.

จุดยืนทางการเมืองของ The Body Shop ที่เกี่ยวข้องกับกระแสสิ่งแวดล้อมชุดต่อมาได้แก่ Go Organic หรือการเลือกใช้ส่วนผสมที่เพาะปลูกแบบไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และไม่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นส่วนผสมจากพืชธรรมชาติที่ “ดีกว่าต่อสิ่งแวดล้อม (เพราะลดการปนเปื้อนของสารเคมีในดินและน้ำ) สุขภาพของเกษตรกรและผิวพรรณของคุณ” หลังจากประสบความสำเร็จจากการนำเสนอจุดยืนทางการเมืองเรื่องการไม่ใช้สัตว์มาทดสอบผลิตภัณฑ์ และการใช้ส่วนผสมที่เพาะปลูกแบบอินทรีย์แล้ว The Body Shop ยังได้นำเสนอจุดยืนทางการเมืองด้านอื่นๆ ของตนเป็นระยะๆ ตามกระแสความสนใจระดับโลก จนถึงขณะนี้ ทางบริษัทมีแผนการรณรงค์ทั้งหมด 6 ชุด กล่าวคือ
- Against Animal Testing,
- Supporting Community Trade,
- Activate Self Esteem,
- Defend Human Rights,
- Protect Our Planet,
- Help Stop Violence in the Home

มากไปกว่านั้น ปรัชญาการช่วยเหลือสังคมของ The Body Shop สาขาประเทศไทย ยังออกมาในรูปของการสนับสนุนการศึกษาของเด็กที่ขาดแคลน เพียงแค่ผู้บริโภคสมัครเป็นสมาชิก The Body Shop People Club เงินค่าสมัครจะนำไปมอบให้แก่โครงการอุปการะเด็ก ของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

ด้วยเหตุที่ประเด็น ‘ความถูกต้องทางการเมือง‘ มีพัฒนาการที่แปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เมื่อประเด็นเรื่องพหุวัฒนธรรม (multiculturalism) และการไม่เหยียดผิวหรือการเลือกปฏิบัติทางเพศ เริ่ม ‘ล้าสมัย’ ไปแล้ว ประกอบกับการที่อุตสาหกรรมความงามโดยภาพรวม เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีที่สนใจในเรื่อง ‘การเมืองเรื่องร่างกาย (body politics)’ ในแง่ที่ว่า เป็นธุรกิจที่สร้างภาพน่ากลัวให้ผู้คนไม่พึงพอใจต่อรูปร่าง-สีผิว-หน้าตาของตนเอง จนบ่มเพาะเป็นความรู้สึกแปลกแยกต่อตนเอง (self-alienated) แก่เจ้าของเรือนร่างนั้นๆ ประเด็น ‘ความถูกต้องทางการเมือง‘ ชุดใหม่ที่ธุรกิจเครื่องสำอางอย่าง The Body Shop นำมาใช้ล่าสุด จึงเป็นการบอกกล่าวว่า ธุรกิจความงามนอกจากไม่ควรที่จะทำลายธรรมชาติอย่างสัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างๆ แล้ว ยังจะต้อง ไม่ทำลายคุณค่าภายในตามธรรมชาติของผู้คนด้วย ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงได้แก่ แคมเปญส่งเสริมให้ผู้หญิงเกิดความนับถือตนเองภายใต้แผนรณรงค์ Activate Self Esteem ซึ่งผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง อนิต้า ร็อดดิค แสดงความเห็นว่า

“…เราไม่นำเสนอภาพของนางแบบที่ผอมจนเห็นซี่โครง แล้วมาบอกคุณว่าคุณต้องมีรูปร่างให้ได้แบบนี้…คุณคงจะจำได้ว่า เดอะ บอดี้ ช็อป เคยทำแคมเปญ ‘รูบี’ (Ruby) ขึ้นเพื่อตอบโต้และโจมตีรูปแบบความงามแบบตุ๊กตาบาร์บี้ ซึ่งมุ่งแต่ทำลายความเชื่อมั่นในตัวเองของผู้หญิง เราท้าทายและตั้งคำถามกับรูปแบบการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมความงาม”[15](15)

(15) อนิตา ร็อดดิค ตอบคำถาม ‘การตลาดสีเขียว’ “ a day weekly, ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 (9-15 กรกฎาคม 2547), หน้า 67.

Ruby ถูกนำเสนอออกมาเป็นภาพกราฟิกของหญิงสาวที่มีรูปร่างอ้วนท้วน แต่สดใสและมีความสุขที่จะบอกความจริงแก่ผู้หญิงทุกคนให้ทราบว่า ในโลกนี้ มีผู้หญิงเพียง 8 คนในพันล้านคนเท่านั้นที่มีรูปร่างเหมือนยอดนางแบบ ฉะนั้น สิ่งที่เป็นสาระสำคัญมากกว่าก็คือ การที่ผู้หญิงมีความพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ อันจะนำมาซึ่งการเห็นคุณค่าภายในตัวเองมากกว่าคุณค่าความงามที่คนอื่นสวมใส่ให้

กล่าวโดยสรุป การใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเหล่านี้ จึงมิเพียงแต่จะมีประโยชน์ในแง่ที่ปลอดภัยและช่วยลดหรือชะลอความเสื่อมทางกายเท่านั้น หากแต่การใช้สินค้าที่ “มีคุณธรรมและไม่เป็นภัยต่อธรรมชาติ” ยังช่วยเพิ่มพูนเสน่ห์ให้แก่ปัจเจก ทั้งนี้เพราะนับตั้งแต่ตัดสินใจเลือกใช้ การลงมือใช้จริง และผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้ผลิตภัณฑ์ มิใช่การกระทำในพื้นที่ส่วนตัวแบบที่เข้าใจกัน หากแต่ตลอดกระบวนการดังกล่าว ล้วนแล้วแต่มีการสื่อสารกับผู้คนและสังคมตลอดเวลา จากการใช้สินค้า และเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการดึงคุณค่าภายในตามธรรมชาติของผู้นั้นให้เปล่งประกายออกมา
222222222222222222
อุตสาหกรรมอาหาร: แทรกแซงเวลาตามธรรมชาติ
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานนัก “สังคมความเสี่ยง” ที่ทั่วโลกต่างหวาดวิตกได้แก่ สังคมที่มีปัญหาอาหารขาดแคลนตามแนวคิดมัลธูเซียน (Malthusianism) (*) อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารและชีวเคมี ควบคู่ไปกับวิทยาการการถนอมอาหาร การบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง ได้ทำให้ความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงดังกล่าวมลายหายไปจนเกือบจะหมดสิ้น ในยุคสมัยปัจจุบัน อาหารที่มีอย่างพอเพียงเป็นไปได้ เพราะการผลิตอาหารทั้งพืชผักและเนื้อสัตว์มีลักษณะเป็นระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมเกษตรแบบเข้มข้น เป็นระบบการผลิตที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุเป็นผลตามหลักแมคโดนัลด์ (McDonalisation) และที่วางอยู่บนฐานคิดเรื่องการย่นย่อเวลาและระยะทาง

(*) Malthusianism refers to the political/economic thought of Reverend Thomas Robert Malthus whose ideas were first developed during the industrial revolution. It follows his 1798 writings, An Essay on the Principle of Population, which describes how unchecked population growth is exponential while the growth of the food supply was expected to be arithmetical, leading to a Malthusian catastrophe. Malthus wrote during the time of the Manchester School of thought. (http://en.wikipedia.org/wiki/Malthusianism)

การที่เกษตรและปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรมเข้มข้น เข้าไปจัดการและควบคุมเวลาและจังหวะตามธรรมชาติของพืช/สัตว์ เสียใหม่ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามต้องการนั้น วางอยู่บนฐานคิดที่ว่า ‘ยิ่งเร่งให้ได้ผลผลิตเร็วมากแค่ไหน ยิ่งมีประสิทธิภาพ ยิ่งสร้างผลกำไรที่คิดคำนวณและคาดการณ์ได้ดีมากเท่านั้น’ อย่างไรก็ดี การเข้าไปจัดการเร่งเวลาตามธรรมชาติของพืช/ สัตว์เช่นนี้ แม้จะมีผลดีในระยะสั้นตรงที่ได้ผลผลิตในปริมาณและเวลาตามที่กำหนด แต่ในระยะยาวแล้ว กลับก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภคอย่างมาก คำอธิบายที่ให้ภาพได้ดีต่อฐานคิดดังกล่าวเป็นกรณีการขุนวัวนมและการขุนสุกรเพื่อรอชำแหละ

ตามปกติแล้ว ทั้งพืชและสัตว์ต่างก็เจริญเติบโตไปตามท่วงทำนอง/ จังหวะแห่งธรรมชาติและจักรวาล[16](16) แต่อุดมคติในการผลิตของเกษตรแบบอุตสาหกรรมเข้มข้นและวิธีคิดแบบบริโภคนิยม ทำให้การตั้งหน้าตั้งตารอผลผลิตตามฤดูกาลเป็นสิ่งที่อดทนรอไม่ได้ การเอาชนะผลผลิตที่ ‘ออก/ ให้ผล’ ตามเวลาธรรมชาตินั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ “ฝืนกฎธรรมชาติ” ดังกล่าว เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเหตุนี้ วัวนมในฟาร์มที่มีระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมจึงเหนื่อยอ่อนตั้งแต่มีอายุได้เพียง 5 ปี อันเนื่องมาจากการถูกจัดโปรแกรมตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ให้มีความถี่สูงในการตั้งท้องและให้นม

(16) หมายความว่า พืชและสัตว์แต่ละชนิดเป็นผลของวิวัฒนาการมายาวนาน จนสามารถปรับตัวสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่กำหนดขึ้นโดยเขตเส้นรุ้ง (เช่น ช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน) ของแต่ละพื้นที่ เมื่อปรับจน ‘อยู่ตัว’ แล้ว พืช/ สัตว์ก็จะบันทึกข้อมูลนี้ลงในยีนของตน การนำพืช/ สัตว์ออกจากสภาพแวดล้อมเดิม ไปปลูก/ เลี้ยงในพื้นที่ใหม่ ซึ่งแตกต่างกันทั้งท่วงทำนองแห่งเวลาและพื้นที่ จะส่งผลให้พืช/ สัตว์ประสบกับ “ชะตากรรมอันเลวร้าย” (โปรดดู จาเร็ด ไดมอนด์, ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์, (กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2547), หน้า 235) อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยเห็นว่า ด้วยวิทยาการอันทันสมัย พืช/ สัตว์ อาจสามารถมีชีวิตรอดได้ แต่ ผู้ที่จะประสบกับ “ชะตากรรมอันเลวร้าย” น่าจะเป็นมนุษย์ผู้บริโภคอาหารจาก พืช/ สัตว์ข้ามเขตเส้นรุ้งมากกว่า เนื่องจากแม้รูปลักษณ์ภายนอกของพืช/ สัตว์ที่นำมาจากต่างเขตเส้นรุ้ง จะดู “ไม่ผิดปกติ” แต่อย่างใด ทว่า เนื้อในของพืช/ สัตว์นั้นๆ อาจจะกลายพันธุ์ไปเป็นพืช/ สัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่มีข้อมูลลักษณะทางพันธุกรรมแปรปรวน หรือพิกลพิการก็เป็นได้

ส่วนการขุนสุกรให้ได้น้ำหนักถึงเกณฑ์ชำแหละเร็วๆ นั้น นับวันวิทยาการสมัยใหม่จะยิ่งร่นอายุหมูพร้อมชำแหละลงเรื่อยๆ กล่าวคือ ในปี ค.ศ.1800 คนเลี้ยงต้องรอให้หมูมีอายุ 2-5 ปีถึงจะได้น้ำหนัก 60 กิโลกรัมที่พร้อมชำแหละ มาถึงต้นศตวรรษนี้ รอเพียง 11 เดือนเท่านั้น หมูก็จะมีน้ำหนักถึง 100 กิโลกรัม ขณะที่ในขณะนี้ หมูอายุเพียงแค่ 5-6 เดือนก็ ‘ได้น้ำหนัก’ พร้อมที่จะถูกชำแหละก่อนที่ฟันน้ำนมจะร่วงหมดปากด้วยซ้ำไป น้ำนมและเนื้อจากสัตว์ที่ออกมาจากฟาร์มซึ่งใช้ทั้งฮอร์โมนเร่งและอาหารชนิดพิเศษจนโตเร็วในอัตราที่ผิดปกติ จึงไม่อาจรับประกันได้เลยว่าจะมีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค[17](17)

(17) Barbara Adam, Timescapes of Modernity: The Environment and Invisible Hazards, (London & New York: Routledge, 1998), p.142-3.

การใช้สารเคมีและธรรมชาติอย่างหนักมือในระบบการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรอย่างเข้มข้น ได้สร้างความสูญเสียต่อระบบนิเวศ รวมไปถึงพลังงานโลกในระยะยาว ที่แย่ไปกว่านั้นคือ นอกจากจะไม่ช่วยให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนมากขึ้นจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว สารเคมีทั้งหลายที่ (อ้างว่า) จะมาช่วยเพิ่มจำนวนอาหารให้แก่โลก ยังค่อยๆ คร่าชีวิตเกษตรกรผู้ไร้พลัง (แต่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเหล่านั้น) ลงไปอย่างไม่มีใครใยดีนัก ที่ยังเหลือรอดชีวิตอยู่ก็ยากจนลงและอดอยากมากขึ้นเรื่อยๆ[18](18) ทั้งนี้เพราะพวกเขาเป็นแค่กลไกเล็กๆ ไม่สลักสำคัญอะไรนักในห่วงโซ่ของวงจรอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทั้งหมด การเจ็บป่วยหรือการล้มหายตายจากของคนกลุ่มนี้จึงไม่เป็นที่สนใจจริงจังนัก

(18) สิ่งนี้ถูกตีแผ่ในภายหลังว่าเป็นเรื่องโกหกพกลม ที่โฆษณาชวนเชื่อต่อคนทั่วโลกว่า การปฏิวัติเขียวจะสามารถแก้ปัญหาความอดอยากได้ จริงอยู่ การปฏิวัติเขียวได้ช่วยส่งเสริมให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ผลในทางผกผันที่เกิดขึ้นก็คือ ผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับกลับลดน้อยลง ข้ออ้างในการแก้ไขปัญหาความอดอยากด้วยวิธีการดังกล่าว จึงถูกวิจารณ์ว่า เป็นการหลอกให้เกษตรกรได้เพิ่มปริมาณการผลิตอาหารมากๆ ทว่า “ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่เป็นการทำให้ได้ผลผลิตราคาต่ำเพื่อขายในราคาสูงนั่นเอง” (โปรดดู “๑๒ เรื่องโกหกเกี่ยวกับความหิวโหยในโลก,” ปาจารยสาร, ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (พฤศจิกายน 2546-กุมภาพันธ์ 2547) หน้า 56-7.)

ยิ่งกว่านั้น ความวิตกใน ‘ยุค หลัง ความกลัวเรื่องการขาดแคลนอาหาร’ กลับมาอีกครั้งและเป็นที่สนใจในวงกว้าง เมื่อโรคภัยใหม่ๆ ที่คุกคามชีวิตผู้คนถูกวิเคราะห์ว่า มีสาเหตุมาจากอาหารการกิน (diet-related conditions of ill-health) โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ผลิตออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ดังเช่นที่มีการพบว่า อาการอัลไซเมอร์เกิดจากการบริโภคน้ำตาลทรายขาวมากเกินไป[19](19); โรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโภชนาการ; โรคอ้วนและโรคเก๊าท์ที่เดิมเป็น ‘โรคคนรวย’ แต่ภายหลังกลับพบในกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำในประเทศยากจนแถบเอเชียกันมากขึ้น[20](20) เป็นต้น
(19) เมื่อโมเลกุลของน้ำตาลทำปฏิกิริยากับโปรตีน จะเป็นกระบวนการที่เรียกว่า glycosylation ซึ่งเปลี่ยนโปรตีนให้เป็นคอเลสเตอรอลที่ผนังเส้นเลือด กระบวนการนี้เองที่เป็นต้นเหตุให้คนเป็นโรคอัลไซเมอร์ (ดู สุทัศน์ ยกส้าน, “ความชรา,” โภชนา-โรคา น่าฉงน, (กรุงเทพ: สารคดี, 2547), หน้า 201-2.); ส่วนฝ่ายแม็คโครไบโอติคส์ อธิบายว่า กลูโคสส่วนเกินในโลหิตจะเปลี่ยนเป็นไขมันซึ่งจะไปติดค้างอยู่ในเส้นโลหิตฝอยเล็กๆ ในสมองได้ด้วย ส่งผลให้เกิดความชรา/ ความเสื่อมทางสมองในระดับต่างๆ กัน (เฮอร์แมน ไอฮารา, หลักแม็คโครไบโอติคส์, (กรุงเทพ: สาระ, ม.ป.ป.), หน้า 107-8)

(20) เช่นในอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรอดอยากกว่าครึ่งของโลกกระจุกตัวอยู่ที่นั่น มีผู้หญิงที่อายุระหว่าง 20-69 ปีจำนวนถึงร้อยละ 55 ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (overweight) ส่วนในจีนนั้น สัดส่วนของผู้ชายที่มีน้ำหนักเกินเพิ่มเป็น 3 เท่าตัวในปี ค.ศ.1997 จากปี 1989 นอกจากนี้ ตัวเลขประชากรที่อ้วนอุ้ยอ้าย (obesity) ยังเพิ่มเท่าตัวเป็น 60 ล้านคนภายในระยะเวลา 10 ปี (ระหว่าง ค.ศ.1992-2002) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย นอร์ธ คาโรไลนา ถึงกับกล่าวว่า “แทนที่จะมีร่างกายพอดีและน้ำหนักปกติสักระยะหนึ่งซึ่งอาจจะกินเวลาประมาณ 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี แต่ (ประเทศในเอเชียที่เคยประสบปัญหาอดอยาก) กลับกระโดดจากภาวะ ทุพโภชนาการ ไปสู่ภาวะ โภชนาการเกิน ภายในเวลาไม่กี่ปีเอง” นอกจากนี้ การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Obesity พบว่า ยิ่งตัวเลขรายได้ต่อหัวในประเทศกำลังพัฒนามีเพิ่มขึ้นมากเท่าไร กลับกลายเป็นว่า ‘ภาระแห่งความอ้วนอุ้ยอ้าย’ (the burden of obesity) จะเปลี่ยนมือจากการที่ควรจะตกเป็นภาระของกลุ่มคนที่มีฐานะค่อนข้างดี ไปอยู่ที่กลุ่มคนชั้นล่างแทน (“Asia and Obesity: How We Grow So Big,” Time, Vol.164, No.19 (November 8, 2004) p.40, and p.43.)

นอกเหนือไปจากนี้ ขณะที่ประชากรในประเทศยากจน จำนวนหนึ่ง มีอาหารราคาไม่แพงบริโภคกันล้นเหลือ และได้รับของแถมเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยต้นเหตุแห่งโรคภัย อันนำไปสู่ค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษาเยียวยาโรคของตนในอนาคต ที่ตลกร้ายคือ ตัวเลขแสดงผลกำไรของบรรษัทและธุรกิจจำนวนหนึ่งกลับเพิ่มขึ้นทุกปีๆ บรรษัทและธุรกิจที่เป็นแนวร่วมกันในการฟันกำไรจากปัญหาอันเนื่องมาจากไขมันและโภชนาการเกิน - หรือที่เรียกว่า Fat profits - ได้แก่ บรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร, บรรษัทยา, อุตสาหกรรมดูแลรักษารูปร่าง (slimming industry)

ข้างฝ่ายนักเกษตรกรรมเคมีชาวเยอรมันอย่าง จูเลียส เฮนเซล ได้วาดภาพอนาคต ที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติเขียวและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเกษตรไว้ว่า “เกษตรกรรมได้ก้าวเข้าสู่สัญลักษณ์ของมะเร็ง” อันหมายความว่า ผลร้ายของการกินพืชผักที่ปลูกโดยใช้สารเคมี หรือกินเนื้อสัตว์ที่เร่งการเติบโตได้ส่งผลในแง่ที่ทำลายเลือดและน้ำเหลืองของมนุษย์ นี่เองเป็นต้นเหตุแห่งโรคความเสื่อมทั้งหลาย อันรวมไปถึงโรคมะเร็งด้วย[21](21)

(21) มิชิโอะ คูชิ, อาหารต้านมะเร็ง ศาสตร์และศิลป์แห่งการรักษาโรคสมัยใหม่, (กรุงเทพ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2539 (พิมพ์ครั้งที่ 5)), หน้า 88-9.

แม้ว่าความเสี่ยงจากสภาวะอาหารขาดแคลน (ดูเหมือนว่า) จะหมดไปแล้ว แต่อาการแห่งความเสื่อมทางกายอันเนื่องมาจากระบบการผลิตอาหารสมัยใหม่นั้น นับวันยิ่งมีแต่จะชัดเจนขึ้นทุกวันๆ ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งจึงหันมาระมัดระวังการบริโภคอาหารมากขึ้น ขณะที่บรรษัทด้านอาหารต่างๆ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกตั้งคำถามในเรื่องคุณค่าของผลิตภัณฑ์อาหารของบรรษัท ถ้าเช่นนั้น PPBI อย่างอุตสาหกรรมอาหาร มีวิธีในการจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร ? หนึ่งในวิธีการจัดการกับปัญหานี้ได้แก่ การผลิตและส่งผ่านอุดมการณ์ในการทำการตลาด เช่น การทำการตลาดโดยใช้สูตร ‘ธรรมชาติ = มีประโยชน์ = ปลอดภัย’ ตรงนี้เองที่อุดมการณ์ “ธรรมชาติ” หรือ “ความสด (ตามธรรมชาติ)” ถูกนำมาสวมใส่อย่างเหมาะเจาะ ฉะนั้น การประกันความสดใหม่ อันบ่งบอกนัยว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ “เป็นธรรมชาติแท้จริง” จึงเป็นสิ่งที่พบเห็นเป็นประจำ กระนั้นก็ตาม สิ่งที่บรรษัทอาหารพยายามให้ความมั่นใจแก่ผู้บริโภค ยังคงน่าสงสัยอยู่

‘ความสด’ = ปลอดภัย ?
นอกเหนือไปจากเนื้อหมูไม่มีมันหรือแตงโมไม่มีเมล็ดแล้ว อาหารตามธรรมชาติแทบทุกอย่างได้ถูกดัดแปลงไปจากเดิมเพื่อให้กลายเป็น ‘ทางออกเรื่องมื้ออาหาร’ ที่ราคาค่อนข้างถูก การมีรูปลักษณ์ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสิ่งที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ อาจเสี่ยงต่อคำถามเรื่องความปลอดภัยต่อการบริโภค ฉะนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารก็รอบคอบพอที่จะสร้างจุดขายอื่นที่ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ หนึ่งในนั้นคือ ลักษณะของ “ความสด” ทว่า ปัญหาอยู่ที่ “ความสด” ในที่นี้เป็น “ความสด” ในความหมายใหม่ เป็น “ความสด” แบบข้ามกาลเวลา เพราะผลจากความก้าวหน้าในการถนอมอาหารด้วยวิธีการแปรรูป แช่แข็ง ควบคุมและกำหนดเวลาสุกได้ (controlled-atmosphere ripening) การใช้สารเคมีเคลือบ การอาบรังสี และการใช้วิธีการพันธุวิศวกรรม เป็นต้น ดังนั้น จึงมิใช่ความสดในความหมายเดิมๆ ที่รู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่ ซึ่ง Adam เรียกว่า ค ว า ม ส ด ล ว ง (counterfeit freshness) ที่เป็นอันตราย แต่คนทั่วไปแทบจะไม่ตระหนัก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบมีดังต่อไปนี้

(ก) จากสมการ ‘ความสด = ความปลอดภัย’ ตามความหมายดั้งเดิมของความสด ส่งผลให้แต่ไหนแต่ไรมา แค่ประสาทสัมผัสทั้งห้า (senses) ของเราก็เพียงพอที่จะตัดสินได้ว่า อาหารที่อยู่ข้างหน้าเรานั้นสดหรือไม่สด ปลอดภัยที่จะบริโภคหรือไม่ เช่น การสังเกตจากสี กลิ่น ความแข็งหรืออ่อนหยุ่นของอาหาร และรสชาติ หากพบว่าสี กลิ่น เนื้อสัมผัส และรส ผิดเพี้ยนไปจากเดิม นอกจากจะหมายความว่าอาหารไม่สดแล้ว ยังหมายถึงไม่ปลอดภัยด้วย. ทว่า ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีการถนอมอาหาร ทำให้การประเมินระดับความสดและใหม่ของอาหาร ไม่อาจจะพึ่งพาประสาทสัมผัสได้อีกต่อไป ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีถนอมอาหารที่หยุดเวลา - ยืดเวลาของอาหารตามธรรมชาติ และนำอาหารเหล่านั้นข้ามทวีปข้ามเส้นเวลาได้ ก้าวหน้ามากถึงขั้นสามารถหลอกประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่วิวัฒนาการของมนุษย์สร้างสรรค์มาอย่างชาญฉลาดได้อย่างเนียนสนิท ผักผลไม้ที่เดินทางมาจากแหล่งผลิตไกลๆ บางครั้งจึงมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ออกจะ “สด” กว่าปกติธรรมดา จนดูราวกับว่าเพิ่งจะเก็บมาจากสวน ทั้งยังดูประหนึ่งว่าบริสุทธิ์ สะอาด ปลอดจากการปนเปื้อน (‘pure and untainted’ condition) ใดๆทั้งสิ้น[22](22)

(22) Barbara Adam, Op.cit., p.128 and p.152.

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีปัญหา 2 ข้อคือ ข้อแรก ในปัจจุบัน “ความสด” มิได้มีความหมายเดียวกับความปลอดภัยอีกต่อไป ข้อสอง เรื่อง “ความสดที่แท้จริง” ของอาหารกลายเป็นความลับที่ผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้เลย (อายุจริงๆ ของอาหารนั้นคือเท่าใดกันแน่ เก็บเกี่ยวมานานแค่ไหนแล้ว และถูกเก็บรักษากี่วันก่อนจะถูกขนส่งมายังตลาด) ต้องพึ่งพาเฉพาะเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ (ของบริษัทเอกชนหรือของรัฐ) เท่านั้นจึงจะสามารถไขความลับนี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะเป็นจริงตามคำกล่าวอ้างของบริษัทด้านอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรที่ว่า ‘เทคโนโลยีของตนได้สร้างคุณูปการมหาศาลแก่โลก โดยการทำให้มีอาหารจำนวนมากพอ (และราคาถูก) ที่จะเลี้ยงประชากรโลก’ การณ์กลับกลายเป็นว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ส่งผลให้

- ผู้บริโภคสูญเสียอำนาจในการพึ่งอายาตนะทั้งห้าของตนเองในการประเมินความสด อีกทั้งโอกาสที่จะประเมินความปลอดภัยในอาหารได้อย่างถูกต้องแม่นยำเช่นเมื่อก่อน ก็น้อยลงทุกทีๆ

- เป็นตัวสร้างความลวงเรื่องความสดใหม่และปลอดภัย ซึ่ง “ความสดลวง” นี้เองที่ค่อยๆ นำพาชีวิตผู้บริโภคไปสู่อันตรายและความตายผ่อนส่ง

(ข) เพราะระยะห่างระหว่างแหล่งผลิตอาหารกับแหล่งขายสินค้า ส่งผลให้ คุณค่าอาหาร ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และโอกาสในการเกิด การปนเปื้อน ใน “อาหารสด” ยิ่งมีสูงมากขึ้นเป็นเงาตามตัวมากเท่านั้น ขณะเดียวกัน ยิ่งกระบวนการผลิตหรือกระบวนการขนส่งยาวยืดและซับซ้อนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้โอกาสในการตามหาตัวการหรือจุดเริ่มแห่งปัญหาการปนเปื้อน ยากมากขึ้นเท่านั้น

(ค) แม้อุตสาหกรรมอาหารจะยืนยันว่า กระบวนการถนอมอาหารของตน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เคมีเพื่อยืดอายุอาหาร (chemically extended shelf-life) หรือการอาบรังสี (irradiation) จะไม่มีอันตรายต่อร่างกาย ถึงกระนั้น ก็ไม่มีการศึกษาใดๆ ออกมารับรองว่า อาหารที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้จะปลอดภัยต่อมนุษย์ในระยะยาวเช่นกัน Adam กล่าวว่า อุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมักพยายามทำให้คนเชื่อในสมมติฐาน ‘safe until proven harmful’ ซึ่งหมายความว่า หากไม่พบว่าเป็นอันตราย ก็แสดงว่าอาหารนั้นๆ ปลอดภัยแน่นอน มากไปกว่านั้น ผู้บริโภคจะได้รับการป้อนข้อมูลเป็นชุดๆ ตลอดเวลาในทิศทางว่า

- สารเคมีต่างๆ ที่บริษัทใช้นั้น ได้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วว่าไม่อันตราย

- โจมตีว่าบรรดาอาหารตามธรรมชาติทั้งหลายเอง ก็มีอันตรายมากเช่นกันหากบริโภคในปริมาณมาก (dose) หรือถี่เกินไป (frequency) ตรงกันข้าม เทคโนโลยีทางอาหารต่างหากที่ได้ช่วยทำให้อาหารเหล่านั้นปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น เช่นคำโฆษณาที่ว่าการอาบรังสีช่วยทำลายปาราสิตและแมลงต่างๆ ที่แฝงตัวอยู่ในพืชผักผลไม้ ทั้งยังฆ่าแบคทีเรียที่ไปเร่งกระบวนการเน่าเสียของอาหาร[23](23) หรือคำกล่าวอ้างว่า การดัดแปลงพันธุกรรมหรือ GMO มีส่วนช่วยให้พืชบางชนิดลดการสร้างสารพิษ ทำให้แป้งในธัญพืชย่อยยาก กลายเป็นแป้งที่ย่อยสลายง่ายต่อการดูดซึม[24](24) หรือช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เช่น การที่บริษัท AstraZeneca ดัดแปลงพันธุกรรมข้าว โดยการเพิ่มเบตาแคโรทีนลงไป ซึ่งเป็นตัวช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินเอ และป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น[25](25)

(23) Ibid.,pp.153-5.

(24) วินัย ดะห์ลัน, “สองมุมมองเรื่องอาหารดัดแปลงพันธุกรรม,” โภชนาการทันสมัยฉบับผู้บริโภค, (กรุงเทพ: วิทยพัฒน์, 2543), หน้า 242-3.

(25) นาโอมิ ไคลน์, รั้วแห่งการกักกัน หน้าต่างแห่งโอกาส ยุทธศาสตร์ใหม่ของประชาชนในสมรภูมิโลกาภิวัตน์, (กรุงเทพ: โกมลคีมทอง, 2546), หน้า 98.

การใช้อุดมการณ์อื่นๆ
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ต่อก็คือ ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาหารปรุงแต่ง อาหารแปรรูป และอาหารสะดวกซื้อสะดวกกินเหล่านั้น นอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารน้อยแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ด้วย แต่เหตุใดทางออกต่อปัญหาสุขภาพที่เป็นผลจากภาวะโภชนาการของผู้บริโภคส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่การลดการบริโภคอาหารเหล่านี้ การมองว่าที่ว่าผู้บริโภคไม่รู้เท่าทัน ไม่มีเวลา หรือซื้อเพราะราคาถูก ไม่น่าจะเป็นที่สุดแห่งคำตอบ ผู้วิจัยมองว่า อุตสาหกรรมอาหารมีอิทธิพลและสายป่านยาวมากทั้งในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางการสร้างอุดมการณ์ทางสังคม กล่าวคือ นอกเหนือไปจากผลประโยชน์ทับซ้อนและการวิ่งเต้นทางการเมืองแล้ว อุตสาหกรรมอาหารเองยังก็ไม่นิ่งนอนใจที่จะชักจูงผู้บริโภคให้ยินยอมและยินดีไปกับการบริโภคระบบอาหารเหล่านี้ กลไกที่ใช้ในการชักจูงได้แก่ กลไกทางอุดมการณ์ที่แทรกตัวอย่างกลมกลืนไปกับอาหาร คุณค่าเชิงสัญลักษณ์ถูกสร้างขึ้นและเบียดแทรกตัวไปพร้อมๆ กับการโฆษณาแนะนำผลิตภัณฑ์อาหาร

บรรษัทขายอาหารด่วนอย่างแมคโดนัลด์ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในการใช้กลยุทธ์ข้างต้น ดังเช่น การจัดเมนู ‘Happy Meal’ สำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะ ด้วยหวังผลในการหว่านเพาะอารมณ์โหยหาอดีตให้แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ (ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีกำลังซื้อสูงขึ้นในอนาคต) ได้หวนรำลึกถึงรสชาติและความสุขจากการกินเมนูนี้ในวัยเด็ก จนกลับมาเยี่ยมร้านเสมอๆ หรือแม้กระทั่งการใช้กลยุทธ์ ‘A for Cheeseburger’ ของแมคโดนัลด์ในรัฐอิลลินอยส์ ที่จะแจกชีสเบอร์เกอร์ฟรีๆ ให้เด็กนักเรียนที่สอบได้เกรดระดับ A[26](26)

(26) ประชาชาติแห่งไขมัน,” ปาจารยสาร, ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (พฤศจิกายน 2546 - กุมภาพันธ์ 2547), หน้า 51. และ George Ritzer, The McDonaldization of Society, (Thousand Oaks: Pine Forge Press, 2000), p.9.

ส่วนบริษัทด้านอาหารในไทยเลือกที่จะใช้อุดมการณ์อื่นๆ ที่ได้ผลมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ ‘ความเป็นผู้หญิงที่ดี’ (ทั้งในมิติของการเป็นเมียที่ดี และการเป็นแม่ที่ดี) จุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม อุดมการณ์สุขภาพ หรือแม้กระทั่งอุดมการณ์ไทยนิยม. ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีคุณค่าทางอาหารโดยเปรียบเทียบแล้วน้อยกว่าอาหารสดที่เพิ่งปรุงเสร็จใหม่ๆ ไม่ได้ ทั้งยังมีส่วนประกอบของเกลือสูงมากเพื่อช่วยในการรักษา/ ยืดอายุของการวางจำหน่าย (shelf-life) ของสินค้า ได้ขยายภาพคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ของ “ความเป็นแม่” เป็นพิเศษเพื่อผลทางการตลาด “บางสิ่งที่ทำให้รู้ว่า แม่ใส่ใจเราเสมอ แทนความใส่ใจ ด้วยผักกาดดอง แม่จินต์ ที่คัดสรรใจผักอย่างดี กรอบ สะอาด”. ขณะที่วัตถุปรุงแต่งรสอาหารสำเร็จรูป ซึ่งมักเติมผงชูรสและเกลือจำนวนมาก ก็หยิบยืมอุดมการณ์ความเป็นผู้หญิงที่ควรจะมีเสน่ห์ปลายจวัก มาใช้ด้วย “เสน่ห์แม่บ้าน... อยู่ที่อาหาร รสดี”

ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มหลายแห่งของไทยเอง แม้จะมีต้นกำเนิดมาจากองค์กรสาธารณกุศลต่างประเทศ หรือได้รับอิทธิพลทางความคิดจากตะวันตก แต่เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดของตน การหยิบฉวยเอาอุดมการณ์ที่แสดงถึงจุดยืนทางการเมือง จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาปรับทำให้มีกลิ่นอายความเป็นไทยมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การขยายความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมไปยังธุรกิจเครื่องดื่มอย่างกาแฟตามแนวคิด Sec C (ย่อมาจาก Socially and/or Environmentally Consciously Cultivated Coffee) อันหมายถึงกาแฟที่ปลูกอย่างมีสำนึกทางสิ่งแวดล้อมและสังคม[27](27)นั้น เห็นได้จากร้านอาหารและเครื่องดื่มอย่างร้านกาแฟ Lanna café ที่ริเริ่มโดยองค์กรสาธารณกุศลจากประเทศญี่ปุ่น และมีสาขาแรกอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมโครงการการค้าขายอย่างยุติธรรม (Fair Trade) ขององค์การติดฉลากการค้าขายยุติธรรมนานาชาติ (Fairtrade Labelling Organisations International – FLO) และได้รับตรา TransFair ในที่สุด

(27) ต้นตำรับความคิดนี้คือ นักกฎหมายหนุ่มชื่อ Rick Young ที่ต้องการให้ร้านกาแฟริมทางในเมืองหันมาใช้เมล็ดพันธุ์กาแฟที่ผ่านการรับรอง 3 ประการ กล่าวคือ organic, shade-grown และ fair-trade เหตุผลของเขาคือ เมล็ดกาแฟที่ร้านทั่วไปใช้นั้น ไม่ได้ถูกเพาะปลูกด้วยวิธีการแบบยั่งยืน เนื่องจากการปลูกกาแฟแต่ละครั้งมักทำกันเป็นไร่ขนาดใหญ่ ซึ่งต้องถางและโค่นต้นไม้อื่นๆ ลง มีการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีอย่างมหาศาล ส่งผลให้เกิดมลพิษในน้ำ และมลพิษเหล่านี้ถูกแพร่กระจายและไปทำลายระบบนิเวศน์ทางตอนเหนือของประเทศ ผ่านทางพาหะที่เป็นฝูงนกซึ่งต้องอพยพมาอยู่ Berkeley ระยะหนึ่งทุกๆ ปี

Young เห็นว่า กาแฟที่ปลูกแบบมีความรับผิดชอบทางการเมือง จะต้องปลูกแบบอินทรีย์ คือ ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดเชื้อรา; ต้องปลูกภายใต้ร่มเงาของไม้อื่นๆ ซึ่งหมายความว่าไม่จำเป็นต้องถางที่ดินและตัดต้นไม้ใหญ่อื่นๆ เพื่อการทำไร่กาแฟอย่างเดียว เพราะต้นไม้ใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าทั้งหลาย; และต้องกำหนดราคาโดยสะท้อนต้นทุนทางสังคมที่แท้จริงในการทำไร่กาแฟ (โปรดดู “Lovin’ Cups,” The Economist, Vol.364 No.8287 (August 24, 2002), p.26.)

เมล็ดกาแฟของบริษัท Lanna café ซึ่งได้รับฉลากดังกล่าว จึงถือเป็นการได้รับการประกันจาก FLO ว่าคนงานไร่กาแฟ – ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขากะเหรี่ยง - จะได้รับค่าจ้างที่ดี มีสุขภาพดี ทำงานด้วยความปลอดภัย ไม่มีการบังคับทำงานหรือใช้แรงงานเด็ก มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ราคาสินค้าครอบคลุมต้นทุนการผลิต จ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้าเพื่อลดปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และมีสัญญาซื้อขายระยะยาวที่เอื้อต่อการวางแผนการผลิตที่ยั่งยืน[28] (28)

(28) นิรมล มูลจินดา, “Lanna café กาแฟล้านนากับการค้ายุติธรรม,” สารคดี, ปีที่ 18 ฉบับ 206 (เมษายน 2545) หน้า 42 และ 44.

ในโอกาสที่กระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจมาแรง ในช่วงไม่นานหลังจากที่ประเทศประสบวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทด้านอาหารและเครื่องดื่มอย่าง Black Canyon ได้หันมาใช้เครื่องมือทางอุดมการณ์อีกอย่าง นั่นคือ การเล่นประเด็น ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ แบบนิยมไทย เช่น ภายในแบบสอบถามความคิดเห็นลูกค้าที่มาใช้บริการ ได้มีการเพิ่มเนื้อหาที่ประชาสัมพันธ์ว่าตนเองเป็นธุรกิจขนาดย่อม (SME) ของคนไทยซึ่ง “มีส่วนสร้างงานให้คนไทยอีกจำนวนมาก” และ “สนับสนุนให้ใช้ฝีมือแรงงานและทรัพยากรภายในประเทศให้มากที่สุด เพราะเป็นวิธีที่จะช่วยมิให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาครอบงำ และทำลายล้างเศรษฐกิจไทยให้พังพินาศย่อยยับมากไปกว่านี้”

อุดมการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับอาหารนำมาใช้ เพื่อจัดการกับผลเสียทางสุขภาพอันเป็นผลมาจากการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เครื่องมือทางอุดมการณ์ดังกล่าวถูกใช้เพื่อเสริมกลยุทธ์แรก ที่กระทำต่อสาธารณชนผู้บริโภค ผ่านการอ้างความเป็นธรรมชาติและอ้างอิงชุดความรู้ด้านโภชนาการ


อุตสาหกรรมอาหารเสริม: พรากจากธรรมชาติ
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันมีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

(1) กลุ่มดูแลรูปร่าง-น้ำหนัก
(2) กลุ่มดูแลความงาม (ผิวพรรณ ผม เล็บ ฯลฯ) และ
(3) กลุ่มดูแลสุขภาพให้ปลอดจากอาการเสื่อมถอยและความไม่ปกติอื่นๆ

ผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มแรกมีลูกค้าหลักคือ ผู้หญิง ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มหลังสุดจะมีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหญ่กว่า ครอบคลุมทุกเพศ และเน้นตั้งแต่คนวัยทำงานขึ้นไปจนถึงวัยทอง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มิได้มุ่งขายเฉพาะประสิทธิผล (ว่าหลังจากใช้แล้วจะเห็นผลภายในระยะเวลาสั้นๆ) อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น ซึ่งเมื่อผู้บริโภคได้ผล/ ไม่ได้ผล เป็นที่พอใจแล้ว ก็จะหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นั้นไป แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเหล่านี้ มีเป้าหมายอยู่ที่การให้ผู้บริโภคใช้สินค้าอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ดังนั้น วิธีในการนำเสนอภาพตัวแทนจึงต้องปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือทางอุดมการณ์ (ideological apparatus) แทน ซึ่งกลวิธีดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคค่อยๆ เชื่อถือในตัวสินค้า จนนำไปสู่ความยินยอมพร้อมใจที่จะภักดีต่อสินค้านั้นๆ อย่างเต็มใจในที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงได้เห็นการส่ง ‘สาร’ (message) เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของตัวผลิตภัณฑ์ในรูปของ “ความรู้”; การอ้างอิงงานวิจัยต่างประเทศ; การอ้างถึงนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันที่มีชื่อเสียง; หรือแม้กระทั่งการผลิตซ้ำอุดมการณ์ “สุขภาพดีต้องสั่งสม”

ผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขภาพ
ซึ่งมีตั้งแต่สารอาหารเสริมที่สกัดจากวิตามิน เกลือแร่ หรือสารอาหารสำคัญอื่นๆ (เช่น กรดไขมัน) โดยตรง จนไปถึงสารสกัดจากสมุนไพร พฤกษาพันธุ์พืช (botanicals) สารสกัดจากอาหาร และเอนไซม์ - จะเน้นการนำเสนอในรูปของ “ความรู้เต็มรูป” อย่างชัดเจน โดยหลักๆ ได้แก่ การพูดเรื่องความเสื่อมของร่างกาย; โทษที่จะเกิดหากร่างกายขาดสารสำคัญที่มีอยู่ในอาหารเสริมกลุ่มนี้; ประโยชน์ที่จะได้รับจากสารอาหารนี้ว่า ไม่เพียงแต่จะช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แข็งแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความเป็นหนุ่มเป็นสาว และคง (หรือคืน) ความงามให้รูปร่างและผิวพรรณได้ด้วย ข้อมูลในเอกสารโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสตรียี่ห้อหนึ่งเขียนไว้ว่า

“ถาม: ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากถั่วเหลือง สารสกัดจากเปลือกสน สารสกัดจากมะเขือเทศ รวมอยู่กับกลุ่มบำรุงกระดูกมีผลดีอย่างไร

ตอบ: คงไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ต้องการเพียงให้ร่างกายมีกระดูกที่แข็งแรง แต่สรีระของความเป็นหญิงบกพร่องไป ฉะนั้น การเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของสารอาหารเหล่านั้นรวมอยู่ด้วย จะช่วยคงความสาว คู่ความสวย และกระดูกแข็งแรงให้กับคุณตลอดไป”

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า สิ่งที่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมกลุ่มหลังสุดนี้แอบซ่อนไว้หลังม่าน ‘คุณประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ’ นั่นคือ นัยเรื่องเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ ซึ่งถึงแม้จะไม่มีการใช้คำดังกล่าวโดยตรง แต่ก็แฝงไว้ในคำอธิบายที่ดู แสนจะวัตถุวิสัย เมื่อกล่าวถึงกลไกทางชีวภาพที่สารสำคัญในผลิตภัณฑ์จะส่งผลดีต่อร่างกาย และด้วยเหตุที่เส้นแบ่งระหว่างความงามทางกาย เสน่ห์ทางเพศ ความเป็นหญิง-เป็นชาย และ “สุขภาพ” ถูกทำให้เลือนลางลงไปในผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ 3 ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีวิธีการนำเสนอภาพตัวแทนในรูปของ “ชุดความรู้” อย่างแนบเนียน

เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมีอยู่หลากหลาย ตัวที่รู้จักกันดีว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินและเกลือแร่พื้นฐานที่จำเป็นต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม มีอาหารเสริมอีกหลายตัว เช่น พืชสมุนไพรพื้นถิ่น พฤกษาพันธุ์ไม้ สารสกัดจากอาหาร หรือแม้กระทั่งฮอร์โมนบางตัวที่ยังถือว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทย ฉะนั้น การจัดทำเอกสารขนาดเล็กๆ ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แต่ละตัววางไว้ควบคู่กับชั้นวางสินค้า จึงเป็นแผนการส่งเสริมการขาย ที่จะช่วยโน้มน้าวและเปลี่ยนผู้บริโภครายใหม่ให้กลายเป็นลูกค้าผู้ภักดีต่อไปในระยะยาว

จากการศึกษาการนำเสนอภาพตัวแทนในเอกสารข้อมูลต่างๆ ที่พรรณนาถึงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ พบว่า ข้อความต่างๆ ที่ PPBI อย่างอุตสาหกรรมอาหารเสริมหยิบยกมา ไม่ว่าจะเป็นความจำเป็นที่ควรใช้อาหารเสริม (need) ประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ (efficacy) และความปลอดภัย (safety) จะใช้วิธีการที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ (belief-based approach) มากกว่าที่จะเป็นการนำเสนอข้อมูลที่วางอยู่บนฐานทางวิทยาศาสตร์ (science-based approach) ตัวอย่างฐานความเชื่อของคนทั่วไปเกี่ยวกับอาหารเสริม ได้แก่ ความเชื่อที่ว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเป็นดัง ‘การประกันสารอาหารสำคัญ’ (nutritional insurance); ช่วยแก้ไขหรือฟื้นฟูร่างกายจากภาวะพร่องคุณค่าสารอาหารสำคัญจากมลพิษ ความเครียด อาหารด้อยคุณภาพ และพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น

บันได 4 ขั้น: “ความจำเป็น” เพื่อป้องกัน “ความเสี่ยง”
นอกเหนือไปจากการอาศัยฐานความเชื่อของผู้คน เพื่อให้บริษัทยาที่ผลิตตัวอาหารเสริมเหล่านี้สามารถข้ามขั้นตอนการพิสูจน์ผลจากห้องแลบ โดยที่ผู้บริโภคไม่ทันเอะใจแล้ว ภายในแผนการตลาดนั้นเอง ผู้ประกอบการยังได้นำเสนอขั้นตอนต่างๆ เป็นบันได 4 ขั้นเพื่อมาเสริมสร้างความเชื่อพื้นฐานเดิมของผู้บริโภคดังต่อไปนี้

บันไดขั้นที่ 1 ธุรกิจอาหารเสริมมักจะเริ่มต้นด้วยการใช้เหตุผลที่อ้างอิงกับประเด็น “สุขภาพ” (health claim) เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึง ความจำเป็น ที่จะต้องใช้อาหารเสริม อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะ หักล้างความเชื่อ (และความรู้) ชุด disease claim ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ซึ่งมักมองว่าปัญหาสุขภาพของคนเรานั้นเกิดขึ้นเพราะเชื้อโรค

“การเสียชีวิตหรือการเจ็บป่วยของคนเราในปัจจุบันนี้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่มีสาเหตุจากโรคที่เกิดจากเชื้อโรค… แต่การเสียชีวิตหรือการเจ็บป่วยของคนเราส่วนใหญ่ มีสาเหตุจากโรคที่เกิดจาก สารพิษ ที่ร่างกายของคนเราได้รับ และสะสมไว้เป็นเวลานานนับสิบปี เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มะเร็ง เบาหวาน ฯลฯ ถ้าหากเลือดลมในร่างกายหมุนเวียนไม่สะดวก จะทำให้เกิดโรคต่างๆ…เราช่วยคุณได้ด้วยการลดการสะสมของสารที่เป็นพิษในร่างกาย ทำให้เลือดสะอาดขึ้น…ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ”[29](29)

(29) ตัวบทในเอกสารของบริษัท อายุรเวท(ประเทศไทย) จำกัด ที่แนะนำคุณสมบัติของคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll)

ขณะเดียวกัน เมื่อสามารถหักล้างคำอธิบายที่มาของปัญหาสุขภาพว่าเกิดจากเชื้อโรคได้แล้ว ก็จะเริ่มให้ข้อมูล “ทางวิชาการ” ใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ

(ก) สุขภาพดีเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนและค่อยๆ สั่งสมตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งร่างกายที่ไม่เสื่อมโทรม แข็งแรงและดูอ่อนเยาว์ในอนาคต และ

(ข) หากร่างกายขาดสารอาหารชนิดนั้นๆ ที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์แล้ว จะก่อให้เกิด ผลเสียในระยะยาว อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่บ่งชี้ได้ว่า ร่างกายได้มาถึงจุดที่เสื่อมถอยหรือชำรุดแล้ว ซึ่งไม่อาจจะรอช้าได้อีกต่อไป. “การขาดวิตามินหรือแร่ธาตุในระยะสั้น อาจไม่ก่อให้เกิดอาการหรือโรคที่เห็นได้ชัด แต่ในระยะยาว อาจนำไปสู่โรคชนิดต่างๆ ได้ ทั้งที่เกิดจากการขาดวิตามินแร่ธาตุโดยตรง และภาวะของโรคหรืออาการที่ส่งผลต่อการขาดวิตามิน”[30](30)

(30) ตัวบทเกริ่นนำในแผ่นพับอธิบายคุณสมบัติของสารอาหาร ‘แอล-อาร์จีนีน’ (L-Arginine) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทจีเอ็นซี (GNC – General Nutrition Center)

บันไดขั้นที่ 2 หลังจากทำให้ผู้บริโภคเข้าใจแล้วว่า อาการผิดปกติและเจ็บป่วยเกิดจากการไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ จนกระทั่งระบบภายในร่างกายเกิดชำรุดทรุดโทรมแล้ว ผู้ผลิตก็จะส่ง ‘สาร’ ชุดต่อไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับแนวทางการรักษาสุขภาพ ด้วยวิธีการกินอาหารเสริม ด้วยการเสนอ ชุดความคิดเรื่อง ‘ความไม่พอเพียง’ อันหมายความว่า แม้ว่าปัจเจกจะดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนมากพอแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอกับการที่จะทำให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่ดีเลิศ

สาเหตุต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมากล่าวสนับสนุนชุดความคิดเรื่อง ‘ความไม่เพียงพอ’ ได้แก่ การที่แทบทุกวันเราจะต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษ; สารอาหารที่จำเป็นบางอย่างร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ (เช่น กรดไขมันจำเป็นบางชนิด) หรือร่างกายไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ต้องได้รับจากอาหารแบบวันต่อวัน (เช่น วิตามินบี); พืชหลายอย่างมีคุณค่าทางอาหารไม่เพียงพอ เพราะระบบเกษตรสมัยใหม่ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพลง; การกินอาหารบางอย่าง เช่น อาหารแปลงรูป อาหารมังสวิรัติ การดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหาร; ภาวะทางร่างกายบางขณะซึ่งมีผลกระทบต่อการสูญเสียระดับแร่ธาตุ-วิตามินที่สำคัญ เช่น ขณะกำลังตั้งครรภ์ หรือมีความเครียดสูง

“ในการดำเนินชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความเครียด ความเร่งรีบ ไม่มีเวลาสำหรับการพักผ่อน การออกกำลังกาย หรือการรับประทานอาหารที่ด้อยคุณภาพอย่างเช่น ข้าวที่ผ่านการขัดสี น้ำตาลที่ฟอกจนขาว หรือน้ำมันที่นำไปใช้ในการปรุงอาหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ขาด Vitamin B ที่สำคัญไป ดังนั้น แม้ว่าจะรับประทานอาหารตามปกติแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการดำเนินกิจกรรมตามปกติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบที่สำคัญอย่าง “สมอง””[31](31)
(31) คำโปรยจากเอกสารบรรยายสรรพคุณของ Vitamin B Complex ของบริษัท GNC

บันไดขั้นที่ 3 เมื่อผู้บริโภคเริ่มรู้สึกว่าการใช้อาหารเสริมเป็นสิ่งจำเป็น แต่ยังลังเลและไม่มั่นใจในความปลอดภัย ดังนั้น การทำงานลำดับต่อไปของ PPBI อย่างอุตสาหกรรมอาหารเสริมก็คือ การสร้างความน่าเชื่อถือ ให้กับตัวผลิตภัณฑ์ ด้วยการใช้ตัวอ้างอิงหลายแหล่ง เช่น อ้างว่าได้รับการรับรองจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ ดูแล (มิใช่ควบคุม) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโดยตรง (เช่น DSHEA ของสหรัฐอเมริกา [*]); อ้างรายการงานวิจัยต่างๆ ไว้ที่ด้านหลังเอกสารแผ่นพับ; อ้างว่ามีการใช้สารสกัดตัวนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว; รวมไปถึงการใช้ ‘การเมืองแห่งการตั้งฉายา’ ให้กับสารสกัดจากสมุนไพรต่างๆ[32](32)

[*] Dietary Supplement Health and Education Act (DSHEA)
(32) อุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเภทสกินแคร์เองก็ใช้ ‘การเมืองแห่งการตั้งฉายา’ เช่นกัน โดยเฉพาะหากส่วนประกอบหลักของเนื้อครีม เป็นสิ่งที่มาจาก “ตะวันออก” ตัวอย่างเช่น Oriental Princess ออกผลิตภัณฑ์ชุด The Spirit of Asia ที่มีส่วนผสมจากดอกชบา วิธีการที่ง่ายที่สุดและแสนจะดึงดูดใจลูกค้าที่ไม่รู้จักดอกไม้ชนิดนี้ ก็คือ การตั้งฉายาและสร้างคำบรรยาย (narrative) ให้แก่ดอกไม้ชนิดนี้เสียใหม่ ดังที่ Oriental Princess โฆษณาไว้ว่า “เคล็ดลับความงามจากดินแดนตะวันออก คุณค่าของราชินีแห่งดอกไม้เมืองร้อน ดอกชบา อุดมด้วยสารสำคัญต่างๆ คือ Ascobic Acid และ Vitamins มีคุณสมบัติเป็นสารให้ความชุ่มชื้นชั้นเลิศแก่ผิว”

อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ได้ข้อค้นพบสำคัญ 3 ประการ จากกระบวนการสร้างความน่าเชื่อถือ ดังนี้

ข้อค้นพบประการแรก งานวิจัยนี้พบว่า ทุกครั้งที่มีการอ้างว่ามีการใช้สารสกัดนั้นๆ มาเป็นระยะเวลานานมาแล้ว สิ่งที่มักมาควบคู่กันไปก็คือ ข้อความสนับสนุนการใช้สารสกัดหลายตัวที่ใช้ประโยชน์เอาจากกลุ่มคนที่เคยถูกมองแบบ “ความเป็นอื่น” (the Otherness) เช่น ชนเผ่าอินเดียนแดง ชนพื้นเมืองของเม็กซิโก ชาวจีนโบราณ เป็นต้น น่าสนใจว่า ส่วนใหญ่กลยุทธ์การฉวยใช้ประโยชน์จาก “ความเป็นอื่น” มักเกิดกับสารสกัดกลุ่มที่เป็นสมุนไพรและพฤกษาพันธุ์ ซึ่ง Nestle กล่าวว่า ผลการวิจัยเชิงประจักษ์ในห้องแลบเกือบทั้งหมด ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น(หรืออาจจะยังไม่มีเลย) กระนั้นก็ตาม ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนี้ไม่รอให้ผลวิจัยเสร็จเรียบร้อยก่อน จึงค่อยจำหน่ายสินค้าของตน แต่กลับ“ก้าวข้าม”ขั้นตอนนี้ แล้วกระโดดไปสร้างคำกล่าวอ้างเกินจริงเกี่ยวกับสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เลย[33](33)

(33) Marion Nestle, Food Politics: How the Food Industry Influences Nutrition and Health, (Berkeley: Univ. of California Press, 2003), p.219.

ขณะที่คนจำนวนหนึ่งที่มีการศึกษาดี (ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา) มีแนวโน้มไปในทางที่จะชื่นชมหลายสิ่งหลายอย่างที่มาจาก “ฝั่งตะวันออก” ว่า เป็นผลของการบ่มทางอารยธรรมมานาน และเป็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่งดงาม อุตสาหกรรมอาหารเสริมจึงทำการตลาดโดยการป้อนข้อมูล “ทางประวัติศาสตร์” ที่ถูกออกแบบมาให้ตรงใจคนกลุ่มนี้ ซึ่งบังเอิญก็เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเช่นกัน ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความมั่นใจ(จากฝ่ายผู้บริโภค) ในภูมิปัญญาของชาวตะวันออกที่มีมาตั้งแต่อดีตกาล ทำให้ตัวสินค้าที่เชื่อกันว่ามีประโยชน์ แต่ ยังไม่มีการลงทุนทดลองจากห้องแลบจริงจังกลับดูน่าเชื่อถือ ทั้งยังหาซื้อและเสพสะดวก เนื่องจากบัดนี้ “ความเป็นตะวันออก” ได้ถูกจัดแต่ง / แปลงรูป และบรรจุใส่ขวดเพื่อตอบสนองความต้องการบวกจินตนภาพของคนกลุ่มนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

“ถูกใช้ประโยชน์และถูกบรรยายสรรพคุณมาตั้งแต่ปี 1751 จากการใช้อย่างกว้างขวางของประชากรในสวีเดน ชนพื้นบ้านยุคต้นๆ ของ อินเดียนแดงและพวกเมารี ในนิวซีแลนด์ ก็ใช้เกสรผึ้งในการปรุงเป็นอาหาร เพื่อใช้ในพิธีกรรมแห่งความอุดมสมบูรณ์” [34](34)
“มีประวัติการใช้มายาวนานใน ชนพื้นเมืองของเม็กซิโก ช่วยให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า คลายวิตกกังวล…” [35](35)

(34) คำโฆษณาจากแผ่นพับของผลิตภัณฑ์เกสรผึ้ง (Bee Pollen)
(35) คำโฆษณาจากแผ่นพับของผลิตภัณฑ์ อาหารเสริมซึ่งสกัดจากใบดาเมียนา (Damiana leaf)

ข้อค้นพบประการที่สอง คือ ปัญหาจากการอ้างอิงหน่วยงานรัฐที่มีปัญหาในกระบวนการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ของตน ดังที่ปรากฏในเอกสารแนะนำสมุนไพรอิชินาเซีย. “อิชินาเชีย จัดอยู่ในรายการสมุนไพรที่ขายในร้านขายยาทั่วไปของประเทศสหราชอาณาจักร (UK General Sale List) และมีจำหน่ายเสรีโดยจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้กฎหมาย DSHEA (1994)”

ปัญหาของการอ้างอิง DSHEA หรือ the Dietary Supplement Health and Education Act of 1994 อยู่ที่ว่า นี่ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากความไม่รู้ของผู้บริโภคชาวไทย อันได้แก่ความไม่รู้ในเรื่องที่ว่า แท้จริงแล้ว เบื้องหลังของ DSHEA คือ ผลพวงของชัยชนะแบบขาดลอยจากการล็อบบี้ทางการเมืองของอุตสาหกรรมอาหารเสริมภายในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมาย DSHEA จึงเอื้อทุกอย่างที่ผู้ประกอบการในภาคส่วนนี้ต้องการ ซึ่งแม้แต่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) (*) เองก็ไม่มีอำนาจใดๆ ในการเข้าควบคุมในนามของ ‘เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค’ เนื่องจากรัฐสภาของประเทศเสรีนิยมอย่างสหรัฐฯ ให้น้ำหนักกับ ‘สิทธิของผู้บริโภค’ มากเกินไป ตรงนี้เองที่ไปสอดคล้องกับความปรารถนาของอุตสาหกรรมอาหารเสริมที่ต้องการให้ผู้บริโภคใช้ยาเหล่านี้มากๆ ผลก็คือ การให้น้ำหนักกับ ‘สิทธิของผู้บริโภค’ ที่ปรากฏในกฎหมาย ทำให้รัฐสภามีคำตักเตือนต่อ FDA ว่ามิให้กระทำการใดๆ ที่เป็น “อุปสรรคทางกฎหมายอันไม่มีเหตุผล” (unreasonable regulatory barriers) อันจะปิดโอกาสไม่ให้ผู้บริโภคมีเสรีภาพในการซื้อหาตัวผลิตภัณฑ์มาบริโภค นอกจากนี้ สภาฯยังทึกทักเอาว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั้งหลายต่างก็มีความปลอดภัยแน่นอนอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงสามารถวางจำหน่ายสินค้าของตนในตลาดได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องยื่นหลักฐานการทดลองใดๆ เพื่อแสดงว่า ตัวผลิตภัณฑ์นี้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่ ทั้งยังไม่มีหน่วยงานใดมีอำนาจตรวจสอบว่า ตัวอาหารเสริมมีส่วนประกอบของสารสกัดต่างๆ หรือมีสรรพคุณดีตามที่ระบุในฉลากจริงๆ ที่ตลกร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ สภาฯกลับมอบให้เป็นหน้าที่ของ FDA ในการตรวจสอบและพิสูจน์เอาเองว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวไหนบ้างที่ไม่ปลอดภัย[36](36)

(*) The U.S. Food and Drug Administration (FDA) is an agency of the United States Department of Health and Human Services and is responsible for the safety regulation of most types of foods, dietary supplements, drugs, vaccines, biological medical products, blood products, medical devices, radiation-emitting devices, veterinary products, and cosmetics. The FDA also enforces section 361 of the Public Health Service Act and the associated regulations, including sanitation requirements on interstate travel as well as specific rules for control of disease on products ranging from pet turtles to semen donations for assisted reproductive medicine techniques.

(36) Marion Nestle, Op.cit., pp.223-5.

ข้อค้นพบประการที่สาม ได้แก่ ข้อมูลที่ปรากฏบนฉลากผลิตภัณฑ์กลับมีสถานะเป็น ‘เกราะกำบังภัย’ ให้กับบริษัทในลักษณ์เดียวกับที่ ‘ข้อมูลความมีประโยชน์’ ทำหน้าที่ปกป้องบรรษัทด้านอาหาร ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากการที่รัฐ ‘เอาหูไปนา เอาตาไปไร่’ กับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีผลทดลองพิสูจน์ว่าปลอดภัยหรือมีประสิทธิผลต่อร่างกายผู้บริโภคอย่างไรบ้าง หลายๆ ครั้ง จึงดูเหมือนว่าข้อความบนฉลากมีไว้เพื่อให้ความคุ้มครอง ผู้ผลิต มากกว่าที่จะคุ้มครอง ผู้บริโภค

ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวหนึ่ง ที่ซื้อหาได้ทั่วไปตามร้านสุขภาพในประเทศไทยเขียนไว้ว่า “ด้วยแหล่งไฟเบอร์ที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการ (เครื่องดื่มตัวนี้)จะช่วยปรับปรุงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคุณ” หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า “ข้อความโฆษณาสรรพคุณ” ดังกล่าวมีเครื่องหมายดอกจันเล็กๆอยู่เหมือนเชิงอรรถอ้างอิง ที่น่าสงสัยก็คือ เหตุใดข้อความที่จะอธิบายเครื่องหมายนี้เพิ่มเติม กลับไปปรากฏ ณ อีกด้านของบรรจุภัณฑ์ (แทนที่จะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงแบบเชิงอรรถทั่วๆ ไป) ซึ่งเนื้อหาที่เขียน “อธิบาย” มีดังนี้… “ข้อความดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิสูจน์และรับรองโดยองค์การอาหารและยา ผลิตภัณฑ์ตัวนี้มิได้มีไว้เพื่อการวินิจฉัยโรค เยียวยา รักษา หรือป้องกันโรคใดๆ”[37](37)

(37) ข้อความนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “This statement has not been evaluated by the Food and Drug Administration. This product is not intended to diagnose, treat, cure, or prevent any disease.”

นอกจากอาหารเสริมยี่ห้อดังกล่าวแล้ว ยังพบอีกว่า ยาบำรุงอีกหลายตัวที่วางขายในไทยไม่ว่าจะมาจากสหรัฐอเมริกา หรือจากประเทศจีน ก็มีข้อความแบบเดียวกัน การที่ “ข้อความที่เป็นเกราะกำบัง” (หรือข้อความอธิบายว่าผลิตภัณฑ์นี้ ไม่ได้ มีผลในทางเยียวยารักษา) ถูกจัดวางให้ไปอยู่คนละด้านกับ “ข้อความโฆษณาสรรพคุณ” เหมือนกับเป็นการจงใจให้ผู้บริโภคที่ไม่รอบคอบเพียงพอ เข้าใจผิดไปเองว่ายาดังกล่าวมีผลในทางรักษาโรคได้จริงๆ และไปหาซื้อมาบริโภคต่อไป

บันไดขั้นที่ 4 ขั้นตอนท้ายสุด คือ การขยายอุปสงค์ในเชิงประเภท/ ชนิด ของการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ซึ่งหมายถึง การที่บริษัทผู้ผลิตอาหารเสริมส่งผ่านอุดมการณ์ในทำนองว่า ผู้บริโภคที่ปรารถนาจะมีสุขภาพในระดับดีเลิศ ไม่อาจจะจำกัดการใช้สารสกัดเพียงตัวเดียวได้ แต่จำเป็นต้องใช้ร่วมกับสารสกัดตัวอื่นๆ อีกมากมายเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุดของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย ตัวอย่างเช่น วิตามินและเกลือแร่รวมที่มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ ‘นักบริหารที่ต้องผจญกับความเครียด’ นั้น แม้ว่าตัวผลิตภัณฑ์จะรวมวิตามินที่สำคัญต่อระบบประสาทอย่างวิตามินบี และวิตามินซี และเพิ่มเกลือแร่สำคัญลงไปในส่วนประกอบแล้ว แต่ในเอกสารแนะนำตัวสินค้ายังมีข้อเสนอให้บริโภคผลิตภัณฑ์นี้ร่วมกับอาหารเสริมอื่นๆ ดังข้อความว่า… “ผลิตภัณฑ์ที่ควรรับประทานร่วมกันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด (Companion Products): 1. สารสกัดจากสมุนไพร St.John's Wort และ 2. สารสกัดจากใบกิงโก เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปเลี้ยงสมอง”

หรือไม่เช่นนั้น ในนามของ “ความห่วงใยต่อผู้บริโภค” อุตสาหกรรมนี้จะใช้การอ้างอิงกับความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันทางการแพทย์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การสนับสนุนให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลายๆ ตัวไปพร้อมๆ กัน ดังเช่นเอกสารแนะนำสินค้า (ซึ่งบางบริษัทเรียกว่า “เอกสารวิชาการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า”) ที่เป็นเกสรผึ้ง (bee pollen) เขียนไว้ว่า…“ปกติแพทย์จะไม่นิยมแนะนำให้ทานสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเดี่ยวๆ เป็นเวลานานๆ เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารชนิดอื่นๆ ได้ ยกเว้นในกรณีที่เกิดบกพร่องสารตัวใดตัวหนึ่งจริงๆ ดังนั้น ในคนปกติที่ต้องการส่งเสริมสุขภาพ การรับประทานสารอาหารหลายๆ ชนิดร่วมกันในปริมาณที่สมดุลตามธรรมชาติ ก็จะทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด”
3333333333333
ปัญหาจากทางออกจาก “ความเสี่ยง” ที่เสนอโดย PPBI
จากที่ได้วิเคราะห์ทั้งสามอุตสาหกรรม จะเห็นว่า การลงทุนในร่างกายเพื่อให้ได้มาซึ่งเสน่ห์และความงามแห่งเรือนกายและแห่งตัวเจ้าของเรือนกาย มีตัวละครใหญ่ๆ อยู่ 3 ตัวที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยเหลือให้การลงทุนของปัจเจกมีความเป็นไปได้ ซึ่งแต่ละตัวละครต่างก็ฉวยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ” จะมีที่แตกต่างกันเล็กน้อยก็ตรงที่

- อุตสาหกรรมประทินผิวใช้วิธีการ นำเข้าธรรมชาติ มาผสมผสานกับวิทยาศาสตร์ แล้วสวมใส่เข้าไปกับเนื้อครีมของผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะเจาะ

- ส่วนอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอาหารเสริมนั้น ใช้วิธี เอาชนะธรรมชาติ เช่น ที่อุตสาหกรรมอาหารใช้วิทยาศาสตร์ด้านการถนอมอาหาร-การบรรจุหีบห่อ และความก้าวหน้าในการขนส่งไกลๆ มาเอาชนะข้อจำกัดด้านเวลาตามธรรมชาติของอาหาร เพื่อป้องกันการเน่าเสียหรือเพื่อกำหนดเวลา “สุก” ตามต้องการ


- ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารเสริมเอาชนะธรรมชาติ โดยวิธีการสกัด/ ถอดถอน สารอาหารสำคัญออกจากบริบทเดิม (คือ การเกิดและอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ) มาอยู่ในรูปของผงเคมีอัดเม็ดหรือน้ำ แล้วบรรจุใส่ขวดเพื่อความสะดวก

อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบของงานชิ้นนี้คือ วิธีการลงทุนในร่างกายโดยใช้ธรรมชาติผ่านการช่วยเหลือของอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ดังกล่าวมีปัญหาหลักๆ ที่เป็นมายาคติที่มีเกี่ยวกับ “ธรรมชาติ” และความเท่าเทียมเรื่องสุขภาพ ดังนี้
1. มายาคติเกี่ยวกับธรรมชาติ
งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า “ความเป็นธรรมชาติ” ที่ถูกนำเสนอโดย PPBI ซึ่งเข้ามาช่วยเกื้อหนุนการลงทุนในร่างกายของปัจเจก แท้จริงแล้วล้วนเป็นมายาคติที่ถูกประกอบสร้างขึ้นทั้งสิ้น และยังส่งผลเสียหายทั้งต่อร่างกายปัจเจกเอง และต่อระบบนิเวศของโลก ซึ่งยังผลให้เกิดเป็นความเสี่ยงต่อชุมชนโลกในระยะยาว มายาคติเหล่านั้นมีอย่างน้อย 3 ประการ อันได้แก่

ก. ความมืดบอดของการหลงวนอยู่ในเขาวงกตแฟนตาซีของการบริโภคธรรมชาติ
ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่มักขายความเป็นธรรมชาติในผลิตภัณฑ์ของตนเอง มีน้อยคนนักที่ตระหนักและรู้ความจริงว่า เบื้องหลังคำโฆษณา “ความงามตามธรรมชาติ” เหล่านั้น หลายครั้งหลายครานอกจากจะหมายถึง การขูดรีดจากธรรมชาติ แล้ว ยังจะหมายถึง การขูดรีดเอาจากความรู้ของชุมชนที่สั่งสมมานานหลายชั่วอายุคน ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่าง ‘ความรู้จากประสบการณ์ของท้องถิ่น’ ที่ใช้วิธีการเรียนรู้ถ่ายทอดจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดและส่วนตัว กับ ‘ความรู้แบบวิทยาศาสตร์’ ที่การถ่ายทอดความรู้เป็นแบบมีระยะห่าง (ทั้งระยะทางเชิงกายภาพและระยะห่างทางอำนาจ) ระหว่างผู้ผลิตความรู้กับผู้เรียน เนื่องจากปฏิบัติการผ่านลายลักษณ์อักษร (literacy) และมักมาควบคู่กับกฎหมายเรื่องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา-สิทธิบัตร ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของหลายๆ บรรษัทข้ามชาติในการฉกฉวยประโยชน์เอาจากความพลาดพลั้งเผลอเรอของกลุ่มคนที่มีข้อมูลข่าวสารและกำลังทางเศรษฐกิจน้อยกว่า

ยิ่งเมื่อตัวละครผู้อยู่เบื้องหลังเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ หรือบางรายเป็นบรรษัทข้ามชาติ ความเป็นมวยคนละชั้นกันก็ยิ่งชัดเจนขึ้น การต่อรองเพื่อให้ได้คืนมาซึ่งสิทธิการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติดังกล่าว (ที่ถูกลัก/ ฉก เอาไปอันเนื่องมาจากกระบวนการจดสิทธิบัตร) ยิ่งเป็นสิ่งที่ห่างไกลความเป็นไปได้มากขึ้นทุกที ตัวอย่างที่เกิดขึ้น ได้แก่ การที่กวาวเครือขาว (Pueraria mirifica) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ผิวพรรณผ่องใส ได้กลายเป็นส่วนประกอบหลักในสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาหมายเลข 6,352,685[38](38) ผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรคือ Kose Corporation, Tokyo - บริษัทเครื่องสำอางที่มีชื่อเสียงเรื่องการใช้ส่วนผสมสมุนไพรจากจีน เกาหลีและญี่ปุ่น และ Shiratori Pharmaceutical Co., Ltd., Chiba โดยที่ทั้งสองบริษัทอ้างสิทธิในสารประกอบที่สกัดได้จากพืชตัวนี้เพื่อใช้ภายนอกกับผิวหนัง

(38) เจษฏ์ โทณะวณิก, “สิทธิบัตรหรือคือปัญหาเรื่องกวาวเครือ” a day weekly ปีที่ 1 ฉบับที่ 29 (3-9 ธันวาคม 2547) หน้า 20.

ทั้งๆ ที่ในวงการหมอยาไทยแผนโบราณรับรู้ ถ่ายทอด และใช้กวาวเครือขาวเพื่อประทินผิวและเพิ่มความสามารถทางเพศกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2474 ดังปรากฏเป็นหลักฐานในตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทร[39](39) ดังนั้น การจดสิทธิบัตรนี้ ตามทัศนะของนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม เพราะ “ไม่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ควรจะได้สิทธิบัตร” แต่บริษัทเหล่านี้ได้สร้างโวหารในการเขียนจน “ทำให้การใช้กวาวเครือดูเป็นวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมาก”[40](40) ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ ‘รู้ๆ กันอยู่’ ในกลุ่มผู้ใช้สมุนไพร

(39) กวาวเครือ ความผิดพลาดที่ไม่เคยจดจำ,” a day weekly ปีที่ 1 ฉบับที่ 27 (19-25 พฤศจิกายน 2547) หน้า 11.
(40) เจษฏ์, อ้างแล้ว.

สำหรับตัวอย่างของ “ความงามตามธรรมชาติ” ที่เป็นต้นเหตุของการขูดรีดจากธรรมชาตินั้น ได้แก่ กรณีที่กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Animal - WWF) (*) ออกมาเตือนให้ระวังการรุกพื้นที่ป่าอะเมซอน เพื่อปลูกพืชพาณิชย์ป้อนทุนขนาดใหญ่ที่ฉวยใช้ประโยชน์จากกระแสนิยมบริโภคธรรมชาติ[41](41) กระแสดังกล่าวก่อให้เกิดความต้องการสารสกัดจากธรรมชาติจำนวนมาก การปลูกพืชที่เป็นที่มาของสารดังกล่าวคือ ถั่วเหลือง จึงเป็นสาเหตุของการทำลายผืนป่าดิบชื้นและทุ่งหญ้าสะวันนาประมาณ 1.2 หมื่นล้านตารางเมตร เพื่อมาเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง เช่น ลิปสติก ครีมบำรุงผิว รวมไปถึงการนำมาเป็นอาหารโดยตรง เช่น น้ำมันพืช ครีมเทียม เป็นต้น

(*) The World Wide Fund for Nature (WWF) is an international non-governmental organization for the conservation, research and restoration of the environment, formerly named the World Wildlife Fund, which remains its official name in the United States and Canada. It is the world's largest independent conservation organization with over 5 million supporters worldwide, working in more than 90 countries, supporting 100 conservation and environmental projects around the world. It is a charity, with approximately 9% of its funding coming from voluntary donations by private individuals and businesses.

(41) ถั่วเหลืองเป็นเหตุป่าอะเมซอนถูกทำลาย,” a day weekly ปีที่ 1 ฉบับที่ 17 (10-16 กันยายน 2547) หน้า 40.

นอกเหนือไปจากนั้น แฟนตาซีเรื่องการบริโภคธรรมชาติอย่างแบบแผนการกินอาหารเกษตรอินทรีย์ อาหารช้า (slow food) หรือ อาหารสด เพื่อสุขภาพอื่นๆ กลับกลายเป็นการบั่นทอนระบบนิเวศโลกในระยะยาว หรือที่งานวิจัยนี้เรียกว่า เป็นความสูญเสียระดับแรกนั่นเอง เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องใช้พลังงานมากในการขนส่งอาหารเหล่านี้ จากแหล่งผลิตซึ่งอยู่ไกลออกไปจากจุดขายสินค้า ทั้งยังมีขยะและของเสียเกิดขึ้นมากมายจากการบรรจุหีบห่อ เพื่อการขนส่งและการเผาไหม้เชื้อเพลิงระหว่างการขนถ่ายสินค้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง[42](42)
(42) อย่างไรก็ดี เป็นการผิวเผินและง่ายเกินที่จะชี้นิ้วป้ายความผิดไปยังบรรษัทขนาดใหญ่ว่า เป็นตัวการของปัญหาทั้งหมดทั้งปวง เพราะนั่นเป็นการวิเคราะห์แค่ระดับ ‘ความรุนแรงทางตรง’ (direct violence) ที่มองว่า เมื่อจัดการกับต้นเหตุแห่งปัญหา เรื่องก็น่าจะจบลงได้ง่ายๆ บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ‘ศัตรู/ ตัวการ’ ที่ก่อให้เกิดการทำลายระบบนิเวศ มิใช่ตัวบรรษัทแค่ไม่กี่บรรษัทเท่านั้น หากแต่เป็น กระบวนทัศน์ด้านเศรษฐกิจ-ระเบียบทางเศรษฐกิจชุดหนึ่ง ที่

(ก) เน้นการผลิตในปริมาณมากๆ เพื่อให้ประหยัดและคุ้มทุน และ
(ข) เน้นเรื่องการแข่งขันและความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบจนละเลยบางภาคส่วน รวมทั้งพยายามมองไม่เห็นต้นทุนทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง อุดมการณ์บริโภคนิยม ที่หลายๆ ตัวละครช่วยกันผลิตและส่งผ่านไปยังปัจเจกจำนวนมาก จนทำให้เกิดการฉวยใช้ (หรือรู้สึก ‘ไม่เป็นไร’ ที่จะใช้) ประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ” มาขยายภาคตัวตนของตนเองให้มีคุณค่ามากขึ้นในสายตาของผู้อื่น

ทั้งหมดนี้คือ ‘ความรุนแรงทางวัฒนธรรม’ (cultural violence) ซึ่งตัวการเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของอุดมการณ์/ วิธีคิดซึ่งรองรับและให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มิได้หมายความว่า การจะขัดขืนต่อต้านจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (ผู้สนใจความรุนแรงทั้ง 3 แบบ โปรดศึกษาจาก ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อาวุธมีชีวิต? แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง, (กรุงเทพ: ฟ้าเดียวกัน, 2546)).

ข. ‘สูตรสำเร็จ’ ทางการตลาดเพื่อสร้างจุดขายของผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติ
ธรรมชาติ = ความสด = พลังชีวิต = “สุขภาพดี” (= ความงาม / เยาว์วัย)
แนวคิดที่ว่า หากคงคุณค่าตามธรรมชาติไว้ได้มากที่สุด จะยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พบได้ไม่ว่าจะเป็นในเครื่องประทินผิว ดังเช่นการขายแนวคิด Living Food ของ Estee Lauder (*)… “เมื่อผิวได้รับสารอาหารที่มีพลังชีวิตมากที่สุด ผิวจึงรู้สึกกระปรี้กระเปร่า สดใส มีชีวิตชีวา เปล่งประกายสุขภาพดีอย่างเป็นธรรมชาติ”
(*)Estee Lauder Companies, Inc. is one of the world's leading manufacturers and marketers of skin care, cosmetics, perfume and hair care products. The company began in 1946, when Joseph Lauder and wife Estée Lauder began producing cosmetics in New York City, New York. At first, they only had four products: super rich all purpose cream, creme pack, cleansing oil and skin lotion. Two years later, they established their first department store account with Saks Fifth Avenue in New York.

Over the next fifteen years, they expanded the range and continued to sell their products in the United States. In 1960, the company went international. Its first international account was in the London department store Harrods. The following year, it opened an office in Hong Kong.
(http://en.wikipedia.org/wiki/Est%C3%A9e_Lauder_Companies)

หรือพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ที่ขายความเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ แต่ดังที่ทราบกันเรื่อง ‘อาหารเสริม’ ว่า สิ่งที่ถูกพรากออกมาจากบริบทของการดำรงอยู่เป็นคู่เป็นขั้วที่สมดุล ย่อมมีสรรพคุณลดลง และอาจถือว่าเป็นธรรมชาติที่พิกลพิการไปแล้ว

แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ (ตามหลักวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์) ว่า คำอธิบายทัศนะแพทย์จีนข้างต้นเป็นจริงมากน้อยเพียงใด และแม้จะมีหลักฐานยืนยันน่าเชื่อถือจากบรรษัทยาและ “ผู้เชี่ยวชาญ” ในวงการแพทย์-เภสัชกร-นักโภชนาการที่แสดงถึงประสิทธิผลแห่งวิตามินสกัดทั้งหลายเหล่านั้น หากแต่คำถามต่อสูตรสำเร็จข้างต้น ซึ่งมีต้นทางคือ “ธรรมชาติ” ขณะที่ปลายทางคือ “สุขภาพดี” และอาจมีผลพลอยได้เป็น “ความงาม / เยาว์วัย” มีดังนี้

(1) ต้นทุนของลงทุนในร่างกายของปัจเจกเพื่อให้ “มีสุขภาพดี” และความงาม ถึงขนาดต้องนำเข้าหรือสกัดจากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ตาม ‘สูตรสำเร็จ’ ข้างต้น จำเป็นต้องลงทุนสูงขนาดนั้นเชียวหรือ ไม่ว่าจะเป็นราคาที่แพงลิบของตัวผลิตภัณฑ์เอง หรือราคาที่มองไม่เห็น เช่น มลพิษ หรือระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบจนแปรปรวน

(2) เป็นไปได้หรือไม่ว่า ด้วยเหตุที่มีการจำกัดที่มาของ “การมีสุขภาพดี” ให้เหลือเพียงนัยแคบๆเช่นนี้ (คือ ต้องมาจากการบริโภคธรรมชาติเท่านั้น) จึงส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวภายในสังคมอย่างน้อย 2 กระแส กล่าวคือ

- เพื่อขับเน้นและเพิ่มอุปสงค์ในตัวผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเหล่านี้มากขึ้น ฟากบรรษัทยาและผู้ผลิตอาหารเสริม จึงระดมผลิตทั้งผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และสร้าง software หรืออุดมการณ์ชุดหนึ่งในเรื่อง ศัตรูสุขภาพ คุณค่าที่ไม่เพียงพอในอาหารประจำวัน และ ‘สุขภาพดีต้องสั่งสม’

- อีกด้านหนึ่ง ขบวนการประชาชนที่เป็นเจ้าของความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งสั่งสมมาหลายชั่วอายุคน และกำลังจะถูกพรากจาก “ความเป็นเจ้าของ” นั้นไปอยู่ในมือบรรษัทต่างชาติด้านเครื่องสำอาง ด้านยา และด้านอาหาร ได้เคลื่อนไหวและมีข้อเรียกร้องให้ตนเองยังคงมีสิทธิเต็มในการเป็นเจ้าของและเข้าถึง (access) คุณประโยชน์แห่งสารสกัดจากธรรมชาติชนิดนั้นๆ หรือไม่

ประเด็นคือ ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหน ต่างก็นำไปสู่การเร่งการบริโภคธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะส่งผลเป็นปัญหาลูกโซ่ต่อไปยังการขูดรีดและทำลายระบบนิเวศ และยิ่งถ่างช่องว่างของความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพมากขึ้นไปอีก – คนที่มีกำลังซื้อ ก็สามารถบริโภคธรรมชาติเพื่อจะได้ “มีสุขภาพดี” ตาม ‘สูตรสำเร็จ’ ดังกล่าว ทั้งยังเป็นการสนับสนุนผลกำไรให้แก่ผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ ขณะที่คนซึ่งไม่มีกำลังซื้อ อาจต้องรวมตัวกันเป็นประชาสังคม และใช้พละกำลังอย่างมหาศาลในการต่อกรกับบรรษัทขนาดยักษ์

ทางออกเรื่องสุขภาพ จึงน่าจะเป็นเรื่องของการ เปิดกว้างให้มีเฉดความหมายของคำว่า “สุขภาพดี” หลากหลาย เพื่อที่จะได้ทำให้เรื่องสุขภาพไม่จำเป็นต้องอิงอยู่กับมาตรวัดหนึ่งเดียวซึ่งเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติ. เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสุขภาพดีได้โดยไม่จำเป็นต้องบริโภคมากมาย เพื่อที่ว่าปัจเจกต่างสถานะทางสังคม ต่างเพศ ต่างสังกัด จะได้ไปถึงจุดหมายเรื่องสุขภาพดีอย่างเสมอภาคกัน

ค. ความเชื่อมั่นว่า “ความเป็นธรรมชาติแท้ๆ” จะปลอดภัย ไร้การปนเปื้อน
กระแสความนิยมในการบริโภคอาหารจากธรรมชาติของชนชั้นกลางในเมือง ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนจนทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารต่างแข่งขันกันขาย “ความเป็นธรรมชาติแท้ๆ” ในผลิตภัณฑ์อาหารของตน ทั้งนี้รวมไปถึงผู้ผลิตรายย่อยตามร้านอาหารสุขภาพ และผู้ประกอบการระดับครัวเรือนด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสมอื่นๆ เช่น สีผสมอาหาร สารให้กลิ่น และน้ำตาลปริมาณสูง แม้ว่าจะมีระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์ตามระเบียบของคณะกรรมการอาหารและยา (เช่น การเติมวลี “แต่งสีและกลิ่นสังเคราะห์” หรือการใส่ข้อมูลตรงส่วนประกอบเป็นรหัสทางเคมีของสีสังเคราะห์ที่ใส่ลงไปในอาหาร) แต่ในคำโฆษณา มักไม่ปรากฏข้อมูลเหล่านี้อยู่ ซึ่งตรงนี้อาจตีความได้ 2 อย่าง

- อย่างแรก ผู้ผลิตจงใจขับเน้น “ความเป็นธรรมชาติแท้ๆ” ให้โดดเด่นจนข้อมูลชุดดังกล่าวไปบดบังสถานะของความเป็นอาหารสังเคราะห์ การตีความ

- อย่างที่สอง ได้แก่ การที่ตัวผู้ผลิตเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตอาหารรายย่อย รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือตกเป็นเป้าของอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมเกษตร และอาจไม่มีข้อมูลรอบด้านดีเกี่ยวกับวัตถุดิบที่ตนนำมาใช้ในร้าน

ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารสุขภาพบางร้านที่ขายโยเกิร์ตโฮมเมดหรือ ‘ทำเองที่บ้าน’ ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่ปลอดภัย ถูกหลักอนามัย รักษาคุณค่าตามธรรมชาติไว้ครบถ้วน และมีความเอาใจใส่ของผู้ปรุงมากกว่าโยเกิร์ตที่ผลิตออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ทว่า น้ำนมที่ร้านค้ารับซื้อมาจากฟาร์มซึ่งอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ อาจจะปนเปื้อนยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคให้แม่วัวก็ได้[43](43) หรือน้ำตาลทรายตามร้านสุขภาพที่เห็นมีสีขุ่นและเชื่อกันว่าเป็นน้ำตาลไม่ฟอกสี (และปลอดภัย) นั้น แท้จริงแล้วก็คือ น้ำตาลทรายขาวที่ผสมสีจากกากน้ำอ้อย (molasse) นั่นเอง อันตรายจึงไม่ต่างจากน้ำตาลทรายขาวแต่อย่างใด[44](44) แม้กระทั่งผักอินทรีย์ที่เชื่อกันว่า ปลอดสารพิษ เมื่อสถาบันวิจัยโภชนาการ ของมหาวิทยาลัยมหิดลไปตรวจสอบ พบว่า มีสารโลหะหนักปริมาณมากจนน่าตกใจ ซึ่งโลหะหนักเหล่านี้มาจากปุ๋ยน้ำทางชีวภาพ ที่ไม่ได้เลือกวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ย[45](45)

(43) กรรณิการ์ พรมเสาร์, อ้างแล้ว, หน้า 41.
(44) สิทรา พรรณสมบูรณ์, อ้างแล้ว, หน้า 78.
(45) แก้ว กังสดาลอำไพ และกัลยารัตน์ เครือวัลย์, “อาหารอินทรีย์ ถ้ารัฐจะทำ…ใช้หัวใจดีกว่าใช้เงิน,” ฉลาดซื้อ, ปีที่ 11 ฉบับที่ 65 (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2548), หน้า 57.

นอกเหนือไปจากนี้ การบริโภค “อาหารอินทรีย์” (หมายความว่า อาหารที่ถูกเพาะ/ เลี้ยงท่ามกลางสภาพตามธรรมชาติ และปลอดจากการใช้สารเคมี-ฮอร์โมนใดๆ) ที่ขนส่งมาจากแหล่งผลิตไกลๆ ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเสียทีเดียว ดังที่ได้อธิบายไปแล้วว่า กระบวนการถนอมอาหารเพื่อรักษาสภาพและ “คุณค่า” ของอาหารก่อนจะไปถึงจุดหมาย เป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยขั้นตอนของการใช้วิทยาศาสตร์มาช่วยอย่างมาก และนั่นย่อมหมายความว่า โอกาสของการปนเปื้อนทั้งโดยจงใจและไม่จงใจย่อมอยู่ในระดับสูง

อีกปัญหาหนึ่งคือ ยีนในอาหาร ถูกกำหนดขึ้นจากวิวัฒนาการที่พืชหรือสัตว์ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายในเส้นรุ้งหนึ่งๆ ฉะนั้น ตรรกะในทำนองเดียวกันเมื่อนำมาอธิบายเรื่องอาหารของมนุษย์ จึงมีอยู่ว่า อาหารชนิดหนึ่งๆ ที่กำเนิดอยู่ในพื้นที่หนึ่ง จึงเหมาะกับสภาพร่างกายผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ แม้ว่าสมมติฐานนี้จะยังไม่มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มารับรอง แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า การกินอาหารข้ามพื้นที่-ข้ามเส้นรุ้ง ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อร่างกาย

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า อาหารจากธรรมชาติมีคุณค่าสูงต่อร่างกาย กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าอาหารประเภทนี้จะเหมาะกับคนทุกคนเสมอไป นอกจากประเด็นเรื่องอาหารธรรมชาติที่ข้ามแดนข้ามเส้นรุ้งมาจะไม่เหมาะกับคนอีกเขตหนึ่ง ซึ่งภูมิอากาศแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องของระดับสุขภาพและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับอาหารจากธรรมชาติแต่ละชนิดแตกต่างกันไป เช่น หัวเผือก หัวมัน ข้าวโพด และแครอท ซึ่งคนรักสุขภาพทั่วไปมักจะบริโภคเป็นอาหารว่างหรือทำเป็นเครื่องดื่ม ทว่า พืชคาร์โบไฮเดรตเหล่านี้ มีกลูโคสอยู่สูง อันจะส่งผลให้ร่างกายผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น และจะเปลี่ยนโอเมก้า-6 ให้เป็นกรดไขมันชนิดที่เป็นอันตรายมาก และยิ่งทำให้ผู้ที่เป็นมะเร็งอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น อาหารดังกล่าวรวมไปถึงอาหารจากธรรมชาติที่มีโอเมก้า-6 สูง เช่น งา น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส จึงถือเป็นของต้องห้ามและไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง[46](46)

(46) อารีย์ วชิรมโน, ยิ้มสู้มะเร็ง, (กรุงเทพ: สารคดี, 2547), หน้า 87, 105 และ 115-6.

สองประเด็นข้างต้นตรงกับข้อเสนอของ มิชิโอะ คูชิ ซึ่งได้สรุปสั้นๆ ไว้ว่า การกินอาหารเพื่อสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่มีคุณภาพ มีหลักการกินให้กลมกลืน 5 อย่าง อันได้แก่

(ก) กลมกลืนกับระบบนิเวศวิทยา คือ การบริโภคอาหารที่หาได้ภายในพื้นที่ที่อาศัยอยู่
(ข) กลมกลืนกับลักษณะเฉพาะตัว เช่น อายุ เพศ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน อาชีพ องค์ประกอบทางสรีระเดิม สุขภาพในปัจจุบัน
(ค) กลมกลืนกับลำดับขั้นของวิวัฒนาการ หมายความว่าเมื่อดูจากโครงสร้างของฟัน อาหารของมนุษย์จึงน่าจะเป็นพืชมากกว่าเนื้อสัตว์
(ง) กลมกลืนกับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารแบบดั้งเดิม กล่าวคือ การไม่บริโภคอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูป และ
(จ) กลมกลืนกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เช่น ในฤดูหนาวให้กินอาหารที่ใช้เวลาปรุงนานและอาหารหนัก ลดการกินผลไม้หรือสลัดผักลง ส่วนฤดูร้อน ให้กินอาหารเบาๆ[47](47)

ฉะนั้น ความปลอดภัยของอาหารจากธรรมชาติแท้ๆ จึงไม่ใช่เพียงแค่กินอาหารที่ทำจากพืช แต่ผ่านกระบวนการขัดสี ปรุงแต่ง เติมสารต่างๆลงไปอย่างมากมาย เท่านั้น
(47) มิชิโอะ คูชิ, อ้างแล้ว, หน้า 59-65.

จากที่ได้อภิปรายมาทั้งหมด 3 ประเด็นข้างต้นจะเห็นได้ว่า เรื่องของสุขภาพมิใช่เป็นเรื่องที่จำกัดอยู่แต่แค่การดูแลรักษาร่างกายตามหลักการ “ที่ถูกต้อง” ของวิทยาศาสตร์การแพทย์ โภชนาการ เภสัชศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านความงามเท่านั้น ทั้งยังมิใช่เรื่องของการหมกมุ่นลงทุนในร่างกายแบบปัจเจก - ตัวใครตัวมัน ใครทำใครได้ ตรงกันข้าม เรื่องของการที่จะมีสุขภาพดีนั้น แท้จริงแล้วมิใช่เพียงแค่เลือกกิน หรือไปเสาะแสวงหาอาหาร(ที่มีวัตถุดิบส่วนหนึ่งมา)จากธรรมชาติ จากที่ไกลๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึง ความพร้อมและเต็มใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น พึงพอใจในการบริโภคสิ่งที่หาได้จากท้องถิ่น การศึกษาค้นคว้าให้รู้จริงเกี่ยวกับสภาพร่างกายของตนเอง และรูปแบบการดำเนินชีวิตหรืออาหารแต่ละชนิดที่จะส่งผลต่อตน เป็นต้น นอกจากนี้ การเกิดโรคหรือจะมีสุขภาพดียังโยงใยลากลึกไปได้ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผลิตแบบเข้มข้นและปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย[48] (48) ตราบใดที่เรายังมีมายาคติว่า ‘(สิ่งที่มาจาก) ธรรมชาติเป็นแหล่งต้นตอของสุขภาพดี’ การเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติก็ยังจะคงชอบธรรมอีกต่อไป ภายใต้กระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม. แต่หากมองว่าที่มาของการมีสุขภาพดีมีได้หลายทาง โดยที่ไม่ต้องมีจุดเริ่มต้นจากการนำเข้า สกัด หรือพรากเอาจากธรรมชาติ อย่างเช่น สุขภาพดีเพราะการบริโภคน้อยลง หรือสุขภาพดีเพราะได้อยู่ในสภาพแวดล้อม – ระบบนิเวศ และ ความสัมพันธ์กับผู้คน – ที่ดี เป็นต้น บางทีหนทางสู่ความเท่าเทียมเรื่องสุขภาพอาจจะเป็นจริงได้ 99999999999

(48) ดังเช่นที่มีการพบว่า การปะทุกลับมาอีกครั้งของไข้มาลาเรียช่วงคริสตทศวรรษ 1960 หลังจากที่กำจัดไปได้เกือบจะหมดจากโลกแล้ว ได้มีผู้วิเคราะห์จากมุมมองทางนิเวศวิทยา และบางสาขาย่อยทางชีววิทยาว่า นี่เป็นผลพวงจากการปฏิวัติเขียว ซึ่งกระหน่ำใช้ยาฆ่าแมลงและเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ผลที่ตามมาได้แก่ เพียงชั่วข้ามคืนที่มีการโหมใช้ดีดีที และสารเคมีอื่นๆ ยุงซึ่งสามารถต้านทานยาฆ่าแมลงเหล่านี้ได้ดีก็แพร่พันธุ์กระจายไปทั่วโลก และกลายเป็นพาหะของไข้มาลาเรียระลอกใหม่ (Wim J. van der Steen, Vincent K. Y. Ho and Ferry J. Karmelk, Beyond Boundaries of Biomedicine: Pragmatic Perspectives on Health and Disease, (Amsterdam: Rodopi, 2003), pp.4-6).

2. ปัญหาความไม่เท่าเทียมเรื่องสุขภาพ
เรื่องความไม่เท่าเทียมเรื่องสุขภาพถือเป็นปัญหาใหญ่ทางปรัชญา แต่ในงานวิจัยนี้ขอจำกัดการอภิปรายในเรื่องดังกล่าวไว้เพียง 2 ประเด็น กล่าวคือ (ก) ปัญหาการนำเสนอข้อมูลของ PPBI และ (ข) ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างคู่สัมพันธ์ต่างๆ สองประเด็นนี้เองที่ทำให้เรื่องความเท่าเทียมทางสุขภาพ ดูเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง

ก. การนำเสนอข้อมูลของ PPBI
ข้อมูลความมีประโยชน์ในฉลาก ที่นำเสนอโดยอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอาหารเสริม หรืออุตสาหกรรมบำรุงผิวพรรณ ถ้าดูกันอย่างผิวเผิน การเผยแสดงและกระหน่ำป้อนข้อมูลทางวิชาการอย่างล้นหลาม รวมไปถึงการติดฉลากแสดงว่าเป็นอาหารอินทรีย์หรือเป็นอาหารซึ่งผลิตจากพืชที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมหรือ GMOs น่าจะ ทำให้คนทุกคนในสังคมเข้าถึงสุขภาพที่ดีได้ อย่างไรก็ดี บ่อยครั้งที่พบว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น ทั้งนี้ อิทธิพลของบรรษัทยักษ์ใหญ่และการที่รัฐมักเอื้อผลประโยชน์ให้แก่อุตสาหกรรมเหล่านี้ แทนที่จะคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นอันดับแรก อีกทั้งวิธี ‘การทำการตลาดสีเขียว’ ทำให้ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่า ข้อมูลที่ PPBI พยายามจะบอกแก่ผู้บริโภคนั้นเชื่อถือได้เพียงใด ข้อเท็จจริงที่พบคือ

- การติดฉลากดังกล่าวไม่แน่เสมอไปว่า จะเกิดจากเจตนาดีของตัวผู้ผลิตเองที่ต้องการรับผิดชอบและห่วงใยในสุขภาพต่อผู้บริโภค ที่กล่าวเช่นนี้ เนื่องจากเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ตลาดสินค้าอินทรีย์เติบโตขึ้นอย่างมากในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเริ่มมาจากการเติบโตของเนื้อที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ในแถบยุโรปตะวันตกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐให้การสนับสนุน นโยบายของประเทศในสหภาพยุโรปเอง ถึงกับให้เงินอุดหนุนเกษตรกรที่เปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์[49](49) ส่วนการติดฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ของผู้ประกอบการ บางราย ก็เพียงเพื่อผลทางการตลาดเท่านั้น ดังนั้น การติดฉลากจึงเป็นเรื่องของการเพิ่มยอดขายมากกว่าการให้ทางเลือกแก่ผู้บริโภคอย่างบริสุทธิ์ใจ สำหรับบรรษัทเหล่านี้ในประเทศไทยเอง ก็มีลักษณะการทำการตลาดแบบเดียวกัน เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มที่นิยมบริโภค “ธรรมชาติ”

- การเมืองของการจัดทำมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ของสหรัฐอเมริกา: ครั้งหนึ่ง อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ได้ผลักดันให้กฎหมายยอมรับว่า อาหารจีเอ็มโอ, อาหารฉายรังสี, อาหารที่ผลิตโดยใช้ปุ๋ยจากกากน้ำมันและมูลสัตว์, และเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงแบบขุนให้อ้วน, เป็นอาหารอินทรีย์ประเภทหนึ่ง โชคดีที่ต่อมา ข้อเสนอดังกล่าวถูกพลังประชาชนต้านทานจนต้องยกเลิกการออกกฎหมายนี้ไปในที่สุด[50](50) ถึงกระนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคประชาสังคมไม่อาจมั่นใจได้เลยว่า หน่วยงานของรัฐจะทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์สิทธิของประชาชนเต็มที่ และถ้าหากบรรษัทเหล่านี้ล็อบบี้ทางการเมืองได้สำเร็จ ก็ไม่แน่ว่าหน่วยงานรัฐเหล่านี้ จะไปมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบรรษัทด้านเกษตรและอาหารเหล่านี้หรือไม่

(50) เพิ่งอ้าง, หน้า 49.

เหตุการณ์ข้างต้นยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามของบรรษัทด้านอาหารในการสร้างนิยามใหม่ให้กับคำว่า “อาหารอินทรีย์” (ที่เดิมสามารถใช้แค่ผัสสะทั้ง 5 ของมนุษย์ ก็ประเมินและตรวจสอบได้ว่าปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่) และแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่หากประสบผลสำเร็จ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า จะส่งผลต่อสุขภาพและการบริโภคของคนในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั่วโลก เพราะต้องไม่ลืมว่า สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตแนวคิดหรือสินค้าประเภท software ที่สำคัญของโลก

- ขณะที่ด้านหนึ่ง PPBI ด้านอาหารและการเกษตรพยายามแสดงให้สาธารณชน “เห็น” ถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการติดฉลาก ทว่า อีกด้านหนึ่งที่ถือเป็น “วิชามาร” ของบรรษัทด้านเมล็ดพันธุ์ ได้แก่ การทำให้การปนเปื้อนจากพืชจีเอ็มโอแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ในระดับที่เกินกว่าที่แต่ละประเทศจะออกกฎหมายติดฉลากได้ทัน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้อาหารจีเอ็มโอ “กลายเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”[51](51) ถึงที่สุดแล้ว คนที่ไม่ต้องการบริโภคพืชจีเอ็มโอก็จะไม่มีทางเลือกอื่นๆ อีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ความฝันที่จะไปถึงความเท่าเทียมเรื่องสุขภาพก็จะยิ่งห่างไกลไปทุกที

(51) นาโอมิ ไคลน์, “มลพิษด้านพันธุกรรม,” อ้างแล้ว, หน้า 105-6.

ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เมื่อการปนเปื้อนแพร่ไปอย่างแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ – ดังกรณีข้าวโพดจีเอ็มโอ ซึ่งละอองเกสรสามารถกระจายไปได้ไกลหลายไมล์ - ปฏิบัติการขั้นต่อไปที่ทางบริษัทเมล็ดพันธุ์กระทำได้แก่

(1) การรักษาสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองอย่างก้าวร้าว[52] (52) หรือ
(2) เสนอทางออกให้เปลี่ยนกฎหมายโดยให้ระบุว่า ข้าวโพดจีเอ็มโอ (ซึ่งเดิมใช้เป็นอาหารสัตว์เท่านั้น) เป็นพืชที่มนุษย์บริโภคได้ แทนที่จะรับผิดชอบโดยการเรียกคืนพันธุ์ข้าวโพดเหล่านั้น[53](54)

(53) เป็นกรณีของบริษัท อเวนติส กล่าวถึงใน นาโอมิ ไคลน์, อ้างแล้ว, หน้า 105.
(54) เพิ่งอ้าง, หน้า 104.

ขณะที่พันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการของบรรษัทอาหาร อย่างเช่น ห้างค้าปลีก ก็ร่วมมือโดยการไม่ติดฉลากที่มีไว้เพื่อแบ่งแยกสินค้าอาหารที่เป็น GMOs ออกจากอาหารอินทรีย์ ดังที่ห้าง Loblaws ในแคนาดา ยกเลิกการติดป้ายที่แสดงว่าสินค้าใดปลอดจีเอ็มโอ ทั้งๆ ที่แต่เดิมห้างนี้ก็เคยทำติดฉลากสินค้าปลอดจีเอ็มโอมาก่อน[54](54)

(54) เพิ่งอ้าง, หน้า 104.

ข. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างคู่สัมพันธ์ต่างๆ
นอกเหนือไปจากข้อมูลที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ นำเสนอมา จะทำให้ความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ตัวละครต่างๆ ที่สัมพันธ์กันในเชิงอำนาจยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญของเป้าหมายข้างต้น คู่สัมพันธ์คู่แรก คือระหว่าง ‘บรรษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว’ กับหน่วยทางสังคมที่เรียกว่า ‘ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนา’ หรือระหว่าง ‘ซีกโลกเหนือ’ ผู้ผลิตทั้ง software และ hardware กับ ‘ซีกโลกใต้’ ซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคหลักและหนูทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

“การวิจัยและพัฒนา” หรือ R & D ของบรรษัทเหล่านี้คือ เครื่องมือใหม่ของยุคโลกาภิวัตน์ที่ใช้สร้างความน่าเชื่อถือ ช่วยเพิ่มยอดขาย ใช้เพื่อกีดกันการค้า รวมทั้ง R & D ยังถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับราคาแพงของสินค้า เช่น กรณีอุตสาหกรรมประทินผิว ดังตัวอย่างของ Valmont ที่ยกมาข้างล่างนี้ ทั้งยังเห็นได้ในกรณีของอุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมอาหารเสริมอีกด้วย

“ผลิตภัณฑ์ชุดธรรมชาติจากสวิส ได้แรงบันดาลใจจากความรู้ในพันธุ์พืชดั้งเดิมของสวิส แผ่นดินแห่งเทือกเขาอัลไพน์ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนี้ได้ชื่อว่า สามารถคิดค้นสารสกัดจากธรรมชาติมา ผสมผสานกับหลักการชีวศาสตร์ โดยนำเอาโมเลกุลของแมกนีเซียม แคลเซียม และโซเดียมมาเชื่อมเข้ากับดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เรียกว่า Triple DNA ลิขสิทธิ์เฉพาะของ Valmont ที่มีคุณสมบัติบำรุงผิว ปกป้องผิวจากการทำลายของแสงแดด…

พืชพันธุ์ธรรมชาติหลายชนิด ชาวเอเชียอาจไม่คุ้นเคย ด้วยเป็นพืชเมืองหนาว กำเนิดในแถบภูเขาสูงกว่า 1,200 เมตร เรียกว่า Phyto-alpine และปลูกด้วยวิธี ปลอดสารเคมี โดยสิ้นเชิง เป็นพืช ออร์แกนิกที่บริสุทธิ์แท้ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบสกัดทำผลิตภัณฑ์เพื่อผิว...

Nature by Valmont ตั้งเคาน์เตอร์ขายในเมืองไทยไม่กี่แห่ง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวชั้นสูงนำเข้าจากสวิส แน่นอนราคาต้องคู่ควรกับภาษีนำเข้าและคุ้มค่ากับ การทดสอบวิจัย...”[55](55)
(55) “จากธรรมชาติล้วนๆ,” กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์, ปีที่ 17 ฉบับที่ 5799 (418) (8 สิงหาคม 2547), หน้า 14.

สำหรับกรณีของบริษัทเครื่องสำอางและบรรษัทยา – “ผู้รับผลประโยชน์” จากความสูญเสียระดับสาม อันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมอาหาร - ซึ่งมักสร้างชุดคำอธิบายในทำนองว่า เหตุที่ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณและยาของตนมีราคาแพง และบรรษัท จำเป็นต้อง ปกป้องสิทธิบัตรยาของตน นั่นก็เพราะมี “ต้นทุนด้านการวิจัยและคิดค้นพัฒนายาตัวใหม่ๆ” สูงมาก กระนั้นก็ดี กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่ติดตามการทำงานของบรรษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยา พบว่า ปัญหาของชุดคำอธิบายดังกล่าวอยู่ที่ (ก) การวิจัยและพัฒนา (ข) ยาตัวใหม่ๆ และ (ค) สิทธิบัตรของส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ถึงแม้ตัวยาที่บรรษัทยาข้ามชาติผลิตขึ้นจะเป็นผลจากการวิจัยและคิดค้นพัฒนาจริง ทว่า ยาส่วนมากไม่ใช่ยาที่มีเป้าหมายเพื่อการรักษาโรคที่พลเมืองส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน ประสบชะตากรรมอยู่จนต้องสูญเสียชีวิตไปจำนวนมาก เช่น โรคมาลาเรีย วัณโรค หากแต่สัดส่วนของการ “วิจัย” และผลิตยาของบรรษัทกลับเป็นยาที่ “รักษา” หรือ “พยุง” โรคซึ่งเป็นกันมากในกลุ่มคนผู้มีอันจะกิน (จนกินเกิน) ในโลกที่หนึ่ง (หมายถึงประเทศพัฒนาแล้ว หรือ สังคมแบบ “โลกที่หนึ่ง” ในประเทศโลกที่สาม) เช่น ยารักษาอาการหอบหืด ยาลดความดัน ยาลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด วิตามินและสารอาหารเสริมต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนา “ของเล่นทางเคมี” (chemical toy) อย่างยาเพิ่มประสิทธิภาพในการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายหรือไวอะกร้า (Viagra) เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้งามให้แก่บรรษัทอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนจะได้ผลกำไรอย่างไม่มีวันสิ้นสุด[56](56) ยิ่งเมื่อมาพิจารณาจำนวนและชนิดของยาใหม่ๆ 1,233 ชนิดที่ออกสู่ท้องตลาดในช่วง 18 ปี คือระหว่างปี ค.ศ.1975 ถึง 1997 จะพบว่า มีเพียงตัวยา 13 ชนิดเท่านั้น ที่เป็นยาสำหรับการรักษาโรคที่เกิดในเขตร้อนหรือในภูมิภาคที่ประเทศยากจนตั้งอยู่[57](57)

(56) รายการวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ตอน “ปัจจัยที่สี่” ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2548
(57) การโต้ตอบของ Walden Bello จาก Focus on the Global South ต่อกระทู้ของ Philippe Legrain อดีตที่ปรึกษาของนาย Mike Moore อดีตผู้อำนวยการ WTO ในรายการวิทยุบีบีซี ตอนที่ 2 “Do Corporations Rule?” ภายใต้รายการชุด Who Runs Your World? ออกอากาศในวันที่ 25 สิงหาคม 2548 (โปรดดูจาก BBC NEWS: http://news.bbc.co.uk/go/pr/fr/-/1/hi/magazine/4201516.stm)

ข้อเท็จจริงที่โหดร้ายอีกประการหนึ่งคือ R & D ที่มักมาพร้อมๆ กับการอ้างเรื่อง ‘สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา’ และราคายาและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่แพงเกินเหตุ ถูกใช้เป็นเงื่อนไขเชิงโครงสร้างเงื่อนไขหนึ่งภายใต้กรอบการเจรจาขององค์การการค้าโลก (WTO) มากดดันให้ชุมชนท้องถิ่นในประเทศโลกที่สามต้องยอมจำนนต่อกระบวนการที่เรียกว่า “กระบวนการแปรรูปธรรมชาติ” และการแปรรูปพัฒนาการทางชีวสังคมที่สั่งสมมานานหลายรุ่นคน (the privatization of nature, organisms, and biosocial processes)[58](58) ให้กลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของบรรษัทข้ามชาติด้านอาหาร ด้านเครื่องสำอาง และด้านยาจากประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งนี้คือ การกระทำของ ‘โจรสลัดทางชีวภาพ’ จากประเทศโลกที่หนึ่ง ขณะที่ผู้เสียเปรียบคือ ประเทศโลกที่สามในเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทุนทางชีวภาพ

(58) Walden Bello, “Trade Related Intellectual Property Rights and the Developing World,” Speech at Cairo University, Cairo, October 13, 2004.

ทั้งหมดนี้อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บอันเนื่องมาจากอาหารการกิน รวมไปถึงการรักษาโรคเหล่านั้น และกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ แท้จริงแล้วก็คือ เรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เรื่องของการกุมทั้งเทคโนโลยีและชุดความรู้ รวมทั้งเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างโลกเหนือและโลกใต้นั่นเอง

คู่สัมพันธ์คู่ที่สอง คือ ระหว่างคนที่ต่างชนชั้นกัน เนื่องมาจากการลงทุนในร่างกายของปัจเจกตาม “บท” ที่ PPBI กำหนดมาเพื่อให้ได้มาซึ่ง “สุขภาพดี” ในแบบหนึ่ง ทำให้ปัจเจกต้องลงทุนด้านตัวเงิน เวลาและกำลังใจอีกมหาศาล ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการควบคุมบังคับใจและรักษาระเบียบวินัยในการกิน การออกกำลังกาย และการใช้ชีวิตแทบจะทุกด้านอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การทำน้ำอาร์ซี, การทำน้ำธัญพืช, หรือน้ำผักปั่นที่เป็นที่นิยมกัน จำเป็นต้องมีเครื่องทำน้ำชนิดนี้โดยเฉพาะ การหาซื้อส่วนผสมบางอย่างไม่ง่ายอย่างที่คิด การจัดเตรียมมีหลายขั้นตอน (ทำความสะอาด – ปอก – ต้ม – หั่น –ปั่น -ฯลฯ) รสชาติก็มิได้อร่อย และต้องอาศัยความมีวินัยในตนเองสูงมาก

“กบเข้าฟิตเนสทุกวัน วันละสองชั่วโมงเต็ม เต้นแอโรบิกหนึ่งชั่วโมง จากนั้นเล่นเวทเพื่อเผาผลาญไขมันและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้เฟิร์ม หมอบอกว่าต้องใส่สเตย์นอน ไม่อย่างนั้นกล้ามเนื้อก้นจะขยาย หน้าท้องจะไม่เหมือนเดิม กบก็ต้องทนทรมานนอนหายใจไม่ออกเพราะใส่สเตย์อยู่ตั้งนาน และยังต้องเข้มงวดเรื่องอาหารการกินสุดๆ ตลอดสามเดือนนั้น กบไม่เคยกินข้าวเลย ของหวาน ของมัน ของทอด แตะไม่ได้ มื้อเที่ยงกินแต่ผักจิ้มน้ำพริก หรือไม่ก็แกงเลียง บางวันเปลี่ยนเป็นส้มตำ จะได้ไม่เบื่อ มื้อเย็นกินแอ๊ปเปิ้ล บางทีก็ฝรั่ง หรือไม่ก็ชมพู่ ผ่านไปสามเดือน น้ำหนักลดลงหมดเลยทั้ง 18 กิโล…

…กบต้องสตริ๊กท์เรื่องอาหาร เช่น ถ้าวันนี้กินสลัดผักน้ำสลัดอิตาเลียนแล้ว วันพรุ่งนี้อาจกินปลาแซลมอนแทน อาทิตย์หนึ่งกินข้าวแค่ 5 คำเท่านั้นเป็นเพื่อนลูก มื้อเย็นกินแต่ชมพู่ หรือไม่ก็ฝรั่ง บางทีก็แอ๊ปเปิ้ลสลับๆ กันไป มีบ้างเหมือนกันที่หลุด กินโน่นกินนี่ สมมติว่า ตอนกลางวันกินกุ้งไปสองตัว ตามด้วยก๋วยเตี๋ยวอีกหนึ่งชาม ตกเย็นกบต้องไปนอนให้เขานวดเพื่อรีดน้ำออกจากตัว เพื่อให้หน้าท้องไม่ยื่น ตามด้วยการมาสก์สาหร่ายกระชับตามตัว บางครั้งก็ต้องนวดตามจุดต่างๆ ที่สะสมไขมัน เช่น ตามเอว หน้าท้อง ต้นขา หลังจากนั้น กบแทบจะไม่กินอะไรเลยไปอีกสามวัน เพราะถ้ากินแบบระเบิดระเบ้ออีก หน้าท้องก็จะยื่น น้ำหนักขึ้นทันที”[59](59)

(59) คำให้สัมภาษณ์ของ ปภัสรา เตชะไพบูลย์ อายุ 35 ปี นักแสดง อดีตนางงาม และขณะนี้เป็นผู้ที่ขึ้นชื่อว่า “เป็นภรรยานักการเมืองที่เด็กที่สุด สวยที่สุด และสุขภาพดีที่สุด” ลงตีพิมพ์ใน แพรว ปีที่ 26 ฉบับ 606 (25 พฤศจิกายน 2547) หน้า 239-40.

ผู้วิจัยเห็นว่า จะมีก็เพียงคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายของการลงทุนทางร่างกายเช่นนี้ได้ เป็นคนจำนวนน้อยที่มีอภิสิทธิ์ในสังคม เพราะมีกำลังซื้อสูงจนไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ไปเพื่อให้ได้มา “เพื่อสุขภาพ” มากนัก เป็นคนจำนวนน้อยที่ได้รับการยกเว้นจากสังคมว่า ไม่ต้องทำงานผลิตในทางสังคมหรือ reproduction ที่ต้องดูแลปากท้องและความเป็นอยู่เรียบร้อยของคนอื่นๆ ในครอบครัวและชุมชน โดยสรุปคือ ความหมายของ “สุขภาพดี” ที่สร้างขึ้นนี้ ยังคงไม่เปิดพื้นที่ให้กับคนบางคนที่มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นจนทำให้ไม่มีอิสระทางกาย (corporeal freedom) มากนัก[60] (60) ที่จะสามารถเจียดเวลาไปให้เวลากับตัวเอง “ลงทุนทางร่างกาย” ตามนิยามใหม่ของสุขภาพดีข้างต้น ผู้หญิงแม่บ้านหรือผู้ที่ต้องทำงานหนักนอกบ้านแล้วยังต้องกลับมาบ้านดูแลคนป่วยหรือพ่อแม่ที่แก่เฒ่าแล้ว จะอธิบายกับตนเองและผู้อื่นอย่างไร เมื่อต้องการแบ่งเวลาไปปฏิบัติการ “ส่วนตัว” ดังกล่าว

(60) Gill Valentine, “Consuming Pleasures: Food, Leisure and the Negotiation of Sexual Relations,” in: Leisure/ Tourism Geographies: Practices and Geographical Knowledge, ed. David Crouch, (London and New York: Routledge, 1999), p.173

ในทางกลับกัน คน 2 กลุ่มนี้อาจพอใจกิจกรรมสร้างความรื่นรมย์อื่นๆ เช่น การดื่ม-กินร่วมกับคนอื่นๆ ในครอบครัวและชุมชน มากกว่าการไปออกกำลังกายหรือการมุ่งปรนเปรอตัวเองอย่างเข้มข้น กล่าวอีกอย่าง คนเหล่านี้ตีความหมายคำว่า “สุขภาพดี” ไปอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ สุขภาพดีไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของความแข็งแรง หรือความงามทางกายของปัจเจก แต่สุขภาพดีเป็นผลจากการมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีกับคนอื่นๆ รวมไปถึงความสำเร็จทางจิตใจมากกว่า[61](61) ดังนั้น นอกจากความหมายใหม่ของ “สุขภาพดี” ที่ผลิตขึ้นในยุคนิยมบริโภค จะไม่เปิดพื้นที่ให้แก่คนบางกลุ่มบางพวกแล้ว ยังไม่เปิดพื้นที่ให้แก่ชุดความหมายอื่นๆ ของ “สุขภาพดี” ที่พ้นไปจากความแข็งแรงหรือความงามทางกาย

(61) นิธิ เอียวศรีวงศ์, “วัฒนธรรมฟิตกาย,” วัฒนธรรมความจน, (กรุงเทพ: แพรวสำนักพิมพ์, 2542), หน้า 129.

ถ้าผลักข้อถกเถียงของปัญหาข้างต้นไปให้ถึงที่สุดแล้ว ก็จะนำมาสู่ปัญหาถัดมาที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ กล่าวคือ การลงทุนร่างกายเพื่อ “สุขภาพดี” ในความหมายแคบๆ นี้ อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ตรึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไว้ต่อไป ทั้งในแง่ของ (ก) ชนชั้น-สถานะทางสังคม และ (ข) ในแง่ของรุ่นคน-อายุ หมายความว่า ในด้านหนึ่ง การประกอบสร้างนิยามและรูปแบบการรักษาสุขภาพแบบหนึ่ง ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่การบริโภคให้มากขึ้น - ทั้งที่เป็นการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริม การเสพข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ทางวิชาการ การเลือกแบบแผนการกินอาหารอย่างมี “ความรู้” และมีสำนึก (ไม่ใช่สักแต่ว่ากินอะไรก็ได้) – ยังหมายถึงช่องว่างที่ยิ่งห่างออกไปมากขึ้นระหว่างคนต่างกลุ่ม (ซึ่งมีกำลังซื้อต่างกัน) และอาจกลายเป็นว่า ‘ผู้ที่มีอภิสิทธิ์ในการลงทุนทางกาย’ (อ่านเป็นนัยว่า คนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่มีกำลังซื้อทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็น hardware รวมทั้ง “ข้อมูล” และความหมาย/ อุดมการณ์ หรือ software ที่มาควบคู่ไปกับตัวผลิตภัณฑ์) อาจ อ้างความเหนือกว่า ของตนเหนือนิยามและวิธีการลงทุนทางกายแบบอื่นๆ ของคนต่างกลุ่มต่างชนชั้น เนื่องจากพวกเขาเชื่อมั่นว่าตนเองมีวิธีการดูแลร่างกายอย่างมีหลักการกว่า ปลอดภัยกว่า ใช้ “ความรู้” ทั้งยังเป็นปฏิบัติการในพื้นที่ส่วนตัวที่มีคุณค่าเชิงสัญญะ (เช่น คุณธรรม สำนึกดีต่อสังคม) อีกด้วย

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง การลงทุนในร่างกายเพื่อ “สุขภาพดี” ในแบบที่ PPBI ผลิตขึ้นเช่นนี้ ยังตรึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มคนที่ยอมรับการที่สังขารร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติแห่งวัย กับ กลุ่มคนที่ยอมรับไม่ได้กับ “สภาพเสื่อมทรุดและชำรุด” ของร่างกาย จนต้องแสวงหานานาสารพัดวิธีการ ที่จะคง(และคืน) ไว้ซึ่งความอ่อนเยาว์ คนกลุ่มหลังที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งต่อการคงความอ่อนวัยนี้เอง อาจจะเป็นผู้ที่ผลิตสร้างอุดมการณ์ที่เป็นอคติต่อความสูงวัย (ทั้งที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือที่ไม่ตั้งใจ) ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้ว่าคนกลุ่มนี้นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์หรือมีแบบแผนการดำเนินชีวิตหลายๆอย่างที่ “เป็นธรรมชาติ” ทว่า เป็นการยากยิ่งที่จะให้พวกเขายอมรับความเป็นธรรมชาติแห่งวัยและความเป็นธรรมชาติของสังขาร

โดยสรุป ทางออกจากความเสี่ยงและความเสื่อมทางสุขภาพที่ PPBI เสนอต่อผู้บริโภค บนฐานของการทำงานของ “ระบบ” นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่าง sex-health-beauty-morality หรือ “ความมีสุขภาพดี” และจริยธรรมชุดหนึ่ง จึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือไปจากนี้ คุณภาพความสัมพันธ์ที่แย่ลงระหว่างคู่สัมพันธ์ต่างๆ ในสังคมดังที่ได้อภิปรายไปแล้ว อาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยใหม่ที่ค่อยๆ บ่มเพาะสังคมความเสี่ยงในอนาคต


[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “ร่างกาย เสน่ห์ อัตลักษณ์ และความเท่าเทียมเรื่องสุขภาพในสังคมไทย” ภายใต้ชุดโครงการเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย โดยการสนับสนุนของฝ่ายมนุษยศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
[2] ข้อความโฆษณาจากเอกสารของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นอ่อนจากข้าวสาลี (Wheatgrass) และอัลฟัลฟ่า
[3] ข้อความจากเอกสารโฆษณาของผลิตภัณฑ์ Marepine สารสกัดจากเปลือกต้นสนฝรั่งเศส โดยบริษัท NUVANTA
[4] ข้อความจากเอกสารโฆษณาของผลิตภัณฑ์ Brand สารสกัดจากเมล็ดองุ่น โดยบริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด
[5] Drew Leder, The Absent Body, (Chicago: Univ. of Chicago Press, 1990), p.80 cited in Rosalyn Diprose, “The Body Biomedical Ethics Forgets,” in Troubled Bodies: Critical Perspectives on Postmodernism, Medical Ethics, and the Body, ed. Paul A. Komesaroff (Durham and London: Duke Univ. Press, 1995), pp.208-9.
[6] การประชุมสำคัญๆที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาแบบเดิมที่มุ่งเน้นแต่ด้านเศรษฐกิจเป็นหลักได้แก่ การประชุมสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (the UN Conference on Environment and Development - UNCED) ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ในปี ค.ศ.1992 ตามมาด้วยการประชุมสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน (the UN Conference on Human Rights) ที่กรุงเวียนนาในปี 1993 การประชุมนานาชาติด้านประชากรและการพัฒนา (the International Conference on Population and Development - ICPD) ที่กรุงไคโร ในปี 1994 และการประชุมโลกด้านการพัฒนาสังคม (the World Summit on Social Development) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ในปี 1995
[7] ตติกานต์ อุดกันทา, “Greenwash & Brainwash 5 อันดับนักสร้างภาพ ‘กรีน’,” a day weekly, ปีที่ 1 ฉบับที่ 52 (12-18 พฤษภาคม 2548), หน้า 46.
[8] ผู้เขียนปรับคำนี้มาจากงานของ Gayle Rubin ที่กล่าวถึงสถาบันหลักๆที่ผลิต/ รักษา/ ธำรงอุดมการณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศวิถี (the primary producers of sexual ideology) อันได้แก่ รัฐและกฎหมายของรัฐ สถาบันศาสนา สถาบันทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ครอบครัว สถาบันการศึกษา สื่อ เป็นต้น โดยที่สถาบันเหล่านี้ได้สร้างช่วงชั้นทางสังคมในเรื่องเพศ (sexual stratification) พร้อมๆกับสร้าง “มาตรฐานที่ดีงาม” เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศมาตรฐานเดียว และตั้งแง่รังเกียจคนกลุ่มอื่นๆที่มีวิถีทางเพศต่างออกไป อันรวมไปถึงกลุ่มที่ถูกจัดให้เป็น “ชนกลุ่มน้อยในเรื่องการสังวาส” (erotic minorities) เช่น S/M และ transsexuals โปรดดู Gayle Rubin, “Thinking Sex: Notes for a Radical Theory of the Politics of Sexuality,” in Pleasure and Danger: Exploring Female Sexuality, ed. Carole S. Vance (Boston and London: Routledge & Kegan Paul, 1984), pp.267-319.
[9] หนึ่งในธุรกิจที่โดดเด่นในการขายสินค้าประเภทนี้ได้แก่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ในการอบรมผู้จำหน่ายปลีก (distributor) รายใหม่ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมขายตรงแบรนด์หนึ่ง ได้มีการเน้นย้ำถึงกำไรและโอกาสทางธุรกิจของธุรกิจด้านความเป็นอยู่ที่ดี (Wellness industry) โดยการ (ก) ใช้กลยุทธ์ประจักษ์นิยม สร้างความน่าเชื่อถือผ่านการอ้างตัวเลข เช่น ขนาดหรือจำนวนผู้บริโภคที่ต้องการรักษาสุขภาพทั่วโลก จำนวนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเสื่อมลง (อ้วน มะเร็ง เบาหวาน ฯลฯ) ซึ่งนับวันจะมีแต่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมูลค่าเป็นตัวเลขดอลล่าร์สหรัฐของอุตสาหกรรมนี้ และ (ข) อ้างอิงงานเขียน The Wellness Revolution: How to Make a Fortune in the Next Trillion Dollar Industry ของ Paul Zane Pilzer ผู้ซึ่งเป็น “นักเศรษฐศาสตร์เลื่องชื่อชาวอเมริกัน ที่ปรึกษาอดีตประธานาธิบดีอเมริกันถึง 2 สมัย และเป็นผู้ที่ได้ทำนายไว้ล่วงหน้าอย่างถูกต้องมาแล้ว ถึงปรากฏการณ์อันน่าระทึกใจของระบบอินเตอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทอย่างมหาศาลในชีวิตประจำวันในทศวรรษที่ผ่านมา” โดยกล่าวว่านักเศรษฐศาสตร์คนดังกล่าว คาดการณ์ไว้ว่า “ธุรกิจด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี จะเป็นธุรกิจที่มาแรงที่สุดในช่วงทศวรรษนี้ จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี และจะสร้างความร่ำรวยมหาศาลแก่คนที่เข้าสู่ธุรกิจนี้” (Best Small Business/ Thailand, “ข้อเท็จจริงที่น่าตื่นเต้นของ 3 กระแสเศรษฐกิจกับแนวโน้มธุรกิจในอนาคตที่เริ่มต้นแล้วในปัจจุบัน,” เอกสารฝึกอบรมธุรกิจ แนวโน้มของธุรกิจในอนาคต: โอกาสของคนรุ่นใหม่, ไม่ปรากฏเลขหน้า)
[10] Lisa Cartwright, Screening the Body: Tracing Medicine’s Visual Culture, (Minneapolis: University of Minnesota Press, 1995), pp.2-4.
[11] Ibid., p.5.
[12] ตีพิมพ์ในเอกสารแจกสมาชิกที่ชื่อ My Lancome ฉบับเดือนกันยายน 2547 ภายใต้คอลัมน์ Ask the Expert หน้า 14
[13] ผู้เขียนปรับมาจากคำว่า “a woman used up” ที่ Iris Marion Young ใช้เชิงประชดเสียดสีบางสังคมที่เป็นปฏิปักษ์กับความแก่ ซึ่งส่งผลให้มองผู้หญิงที่หน้าอกหมดความเต่งตึงชูชัน (แต่กลับห้อยคล้อยตามวัยที่เพิ่มขึ้น) ว่าไร้ค่า เพราะแสดงถึงการหมดความสามารถในการเจริญพันธุ์
[14] กรรณิการ์ พรมเสาร์, “เขียวข้ามโลก,” กรีนคอนซูเมอร์, (นนทบุรี: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, 2544), หน้า 85.
[15] “อนิตา ร็อดดิค ตอบคำถาม ‘การตลาดสีเขียว’ “ a day weekly, ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 (9-15 กรกฎาคม 2547), หน้า 67.
[16] หมายความว่า พืชและสัตว์แต่ละชนิดเป็นผลของวิวัฒนาการมายาวนานจนสามารถปรับตัวสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่กำหนดขึ้นโดยเขตเส้นรุ้ง (เช่น ช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน) ของแต่ละพื้นที่ เมื่อปรับจน ‘อยู่ตัว’ แล้ว พืช/ สัตว์ก็จะบันทึกข้อมูลนี้ลงในยีนของตน การนำพืช/ สัตว์ออกจากสภาพแวดล้อมเดิม ไปปลูก/ เลี้ยงในพื้นที่ใหม่ซึ่งแตกต่างกันทั้งท่วงทำนองแห่งเวลาและพื้นที่ จะส่งผลให้พืช/ สัตว์ประสบกับ “ชะตากรรมอันเลวร้าย” (โปรดดู จาเร็ด ไดมอนด์, ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์, (กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2547), หน้า 235) อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยเห็นว่า ด้วยวิทยาการอันทันสมัย พืช/ สัตว์ อาจสามารถมีชีวิตรอดได้ แต่ ผู้ที่จะประสบกับ “ชะตากรรมอันเลวร้าย” น่าจะเป็นมนุษย์ผู้บริโภคอาหารจาก พืช/ สัตว์ข้ามเขตเส้นรุ้งมากกว่า เนื่องจากแม้รูปลักษณ์ภายนอกของพืช/ สัตว์ที่นำมาจากต่างเขตเส้นรุ้ง จะดู “ไม่ผิดปกติ” แต่อย่างใด ทว่า เนื้อในของพืช/ สัตว์นั้นๆอาจจะกลายพันธุ์ไปเป็นพืช/ สัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่มีข้อมูลลักษณะทางพันธุกรรมแปรปรวนหรือพิกลพิการก็เป็นได้
[17] Barbara Adam, Timescapes of Modernity: The Environment and Invisible Hazards, (London & New York: Routledge, 1998), p.142-3.
[18] สิ่งนี้ถูกตีแผ่ในภายหลังว่าเป็นเรื่องโกหกพกลมที่โฆษณาชวนเชื่อต่อคนทั่วโลกว่า การปฏิวัติเขียวจะสามารถแก้ปัญหาความอดอยากได้ จริงอยู่ การปฏิวัติเขียวได้ช่วยส่งเสริมให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ผลในทางผกผันที่เกิดขึ้นก็คือ ผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับกลับลดน้อยลง ข้ออ้างในการแก้ไขปัญหาความอดอยากด้วยวิธีการดังกล่าว จึงถูกวิจารณ์ว่า เป็นการหลอกให้เกษตรกรได้เพิ่มปริมาณการผลิตอาหารมากๆ ทว่า “ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่เป็นการทำให้ได้ผลผลิตราคาต่ำเพื่อขายในราคาสูงนั่นเอง” (โปรดดู “๑๒ เรื่องโกหกเกี่ยวกับความหิวโหยในโลก,” ปาจารยสาร, ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (พฤศจิกายน 2546-กุมภาพันธ์ 2547) หน้า 56-7.)
[19] เมื่อโมเลกุลของน้ำตาลทำปฏิกิริยากับโปรตีน จะเป็นกระบวนการที่เรียกว่า glycosylation ซึ่งเปลี่ยนโปรตีนให้เป็นคอเลสเตอรอลที่ผนังเส้นเลือด กระบวนการนี้เองที่เป็นต้นเหตุให้คนเป็นโรคอัลไซเมอร์ (ดู สุทัศน์ ยกส้าน, “ความชรา,” โภชนา-โรคา น่าฉงน, (กรุงเทพ: สารคดี, 2547), หน้า 201-2.); ส่วนฝ่ายแม็คโครไบโอติคส์ อธิบายว่า กลูโคสส่วนเกินในโลหิตจะเปลี่ยนเป็นไขมันซึ่งจะไปติดค้างอยู่ในเส้นโลหิตฝอยเล็กๆในสมองได้ด้วย ส่งผลให้เกิดความชรา/ ความเสื่อมทางสมองในระดับต่างๆกัน (เฮอร์แมน ไอฮารา, หลักแม็คโครไบโอติคส์, (กรุงเทพ: สาระ, ม.ป.ป.), หน้า 107-8)
[20] เช่นในอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรอดอยากกว่าครึ่งของโลกกระจุกตัวอยู่ที่นั่น มีผู้หญิงที่อายุระหว่าง 20-69 ปีจำนวนถึงร้อยละ 55 ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (overweight) ส่วนในจีนนั้น สัดส่วนของผู้ชายที่มีน้ำหนักเกินเพิ่มเป็น 3 เท่าตัวในปี ค.ศ.1997 จากปี 1989 นอกจากนี้ ตัวเลขประชากรที่อ้วนอุ้ยอ้าย (obesity) ยังเพิ่มเท่าตัวเป็น 60 ล้านคนภายในระยะเวลา 10 ปี (ระหว่าง ค.ศ.1992-2002) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งนอร์ธ คาโรไลนา ถึงกับกล่าวว่า “แทนที่จะมีร่างกายพอดีและน้ำหนักปกติสักระยะหนึ่งซึ่งอาจจะกินเวลาประมาณ 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี แต่นี่คุณ (ประเทศในเอเชียที่เคยประสบปัญหาอดอยาก) กลับกระโดดจากภาวะ ทุพโภชนาการ ไปสู่ภาวะ โภชนาการเกิน ภายในเวลาไม่กี่ปีเอง” นอกจากนี้ การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Obesity พบว่า ยิ่งตัวเลขรายได้ต่อหัวในประเทศกำลังพัฒนามีเพิ่มขึ้นมากเท่าไร กลับกลายเป็นว่า ‘ภาระแห่งความอ้วนอุ้ยอ้าย’ (the burden of obesity) จะเปลี่ยนมือจากการที่ควรจะตกเป็นภาระของกลุ่มคนที่มีฐานะค่อนข้างดี ไปอยู่ที่กลุ่มคนชั้นล่างแทน (“Asia and Obesity: How We Grow So Big,” Time, Vol.164, No.19 (November 8, 2004) p.40, and p.43.)
[21] มิชิโอะ คูชิ, อาหารต้านมะเร็ง ศาสตร์และศิลป์แห่งการรักษาโรคสมัยใหม่, (กรุงเทพ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2539 (พิมพ์ครั้งที่ 5)), หน้า 88-9.
[22] Barbara Adam, Op.cit., p.128 and p.152.
[23] Ibid.,pp.153-5.
[24] วินัย ดะห์ลัน, “สองมุมมองเรื่องอาหารดัดแปลงพันธุกรรม,” โภชนาการทันสมัยฉบับผู้บริโภค, (กรุงเทพ: วิทยพัฒน์, 2543), หน้า 242-3.
[25] นาโอมิ ไคลน์, รั้วแห่งการกักกัน หน้าต่างแห่งโอกาส ยุทธศาสตร์ใหม่ของประชาชนในสมรภูมิโลกาภิวัตน์, (กรุงเทพ: โกมลคีมทอง, 2546), หน้า 98.
[26] “ประชาชาติแห่งไขมัน,” ปาจารยสาร, ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (พฤศจิกายน 2546 - กุมภาพันธ์ 2547), หน้า 51. และ
George Ritzer, The McDonaldization of Society, (Thousand Oaks: Pine Forge Press, 2000), p.9.
[27] ต้นตำรับความคิดนี้คือนักกฎหมายหนุ่มชื่อ Rick Young ที่ต้องการให้ร้านกาแฟริมทางในเมืองหันมาใช้เมล็ดพันธุ์กาแฟที่ผ่านการรับรอง 3 ประการ กล่าวคือ organic, shade-grown และ fair-trade เหตุผลของเขาคือ เมล็ดกาแฟที่ร้านทั่วไปใช้นั้นไม่ได้ถูกเพาะปลูกด้วยวิธีการแบบยั่งยืน เนื่องจากการปลูกกาแฟแต่ละครั้งมักทำกันเป็นไร่ขนาดใหญ่ ซึ่งต้องถางและโค่นต้นไม้อื่นๆลง มีการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีอย่างมหาศาล ส่งผลให้เกิดมลพิษในน้ำ และมลพิษเหล่านี้ถูกแพร่กระจายและไปทำลายระบบนิเวศน์ทางตอนเหนือของประเทศ ผ่านทางพาหะที่เป็นฝูงนกซึ่งต้องอพยพมาอยู่ Berkeley ระยะหนึ่งทุกๆปี Young เห็นว่า กาแฟที่ปลูกแบบมีความรับผิดชอบทางการเมือง จะต้องปลูกแบบอินทรีย์ คือ ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดเชื้อรา; ต้องปลูกภายใต้ร่มเงาของไม้อื่นๆ ซึ่งหมายความว่าไม่จำเป็นต้องถางที่ดินและตัดต้นไม้ใหญ่อื่นๆเพื่อการทำไร่กาแฟอย่างเดียว เพราะต้นไม้ใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าทั้งหลาย; และต้องกำหนดราคาโดยสะท้อนต้นทุนทางสังคมที่แท้จริงในการทำไร่กาแฟ (โปรดดู “Lovin’ Cups,” The Economist, Vol.364 No.8287 (August 24, 2002), p.26.)
[28] นิรมล มูลจินดา, “Lanna café กาแฟล้านนากับการค้ายุติธรรม,” สารคดี, ปีที่ 18 ฉบับ 206 (เมษายน 2545) หน้า 42 และ 44.
[29] ตัวบทในเอกสารของบริษัท อายุรเวท(ประเทศไทย) จำกัด ที่แนะนำคุณสมบัติของคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll)
[30] ตัวบทเกริ่นนำในแผ่นพับอธิบายคุณสมบัติของสารอาหาร ‘แอล-อาร์จีนีน’ (L-Arginine) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทจีเอ็นซี (GNC – General Nutrition Center)
[31] คำโปรยจากเอกสารบรรยายสรรพคุณของ Vitamin B Complex ของบริษัท GNC
[32] อุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเภทสกินแคร์เองก็ใช้ ‘การเมืองแห่งการตั้งฉายา’ เช่นกัน โดยเฉพาะหากส่วนประกอบหลักของเนื้อครีมเป็นสิ่งที่มาจาก “ตะวันออก” ตัวอย่างเช่น Oriental Princess ออกผลิตภัณฑ์ชุด The Spirit of Asia ที่มีส่วนผสมจากดอกชบา วิธีการที่ง่ายที่สุดและแสนจะดึงดูดใจลูกค้าที่ไม่รู้จักดอกไม้ชนิดนี้ ก็คือ การตั้งฉายาและสร้างคำบรรยาย (narrative) ให้แก่ดอกไม้ชนิดนี้เสียใหม่ ดังที่ Oriental Princess โฆษณาไว้ว่า “เคล็ดลับความงามจากดินแดนตะวันออก คุณค่าของราชินีแห่งดอกไม้เมืองร้อน ดอกชบา อุดมด้วยสารสำคัญต่างๆคือ Ascobic Acid และ Vitamins มีคุณสมบัติเป็นสารให้ความชุ่มชื้นชั้นเลิศแก่ผิว”
[33] Marion Nestle, Food Politics: How the Food Industry Influences Nutrition and Health, (Berkeley: Univ. of California Press, 2003), p.219.
[34] คำโฆษณาจากแผ่นพับของผลิตภัณฑ์เกสรผึ้ง (Bee Pollen)
[35] คำโฆษณาจากแผ่นพับของผลิตภัณฑ์ อาหารเสริมซึ่งสกัดจากใบดาเมียนา (Damiana leaf)
[36] Marion Nestle, Op.cit., pp.223-5.
[37] ข้อความนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “This statement has not been evaluated by the Food and Drug Administration. This product is not intended to diagnose, treat, cure, or prevent any disease.”
[38] เจษฏ์ โทณะวณิก, “สิทธิบัตรหรือคือปัญหาเรื่องกวาวเครือ” a day weekly ปีที่ 1 ฉบับที่ 29 (3-9 ธันวาคม 2547) หน้า 20.
[39] “กวาวเครือ ความผิดพลาดที่ไม่เคยจดจำ,” a day weekly ปีที่ 1 ฉบับที่ 27 (19-25 พฤศจิกายน 2547) หน้า 11.
[40] เจษฏ์, อ้างแล้ว.
[41] “ถั่วเหลืองเป็นเหตุป่าอะเมซอนถูกทำลาย,” a day weekly ปีที่ 1 ฉบับที่ 17 (10-16 กันยายน 2547) หน้า 40.
[42] อย่างไรก็ดี เป็นการผิวเผินและง่ายเกินที่จะชี้นิ้วป้ายความผิดไปยังบรรษัทขนาดใหญ่ว่า เป็นตัวการของปัญหาทั้งหมดทั้งปวง เพราะนั่นเป็นการวิเคราะห์แค่ระดับ ‘ความรุนแรงทางตรง’ (direct violence) ที่มองว่า เมื่อจัดการกับต้นเหตุแห่งปัญหา เรื่องก็น่าจะจบลงได้ง่ายๆ บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ‘ศัตรู/ ตัวการ’ ที่ก่อให้เกิดการทำลายระบบนิเวศมิใช่ตัวบรรษัทแค่ไม่กี่บรรษัทเท่านั้น หากแต่เป็น กระบวนทัศน์ด้านเศรษฐกิจ-ระเบียบทางเศรษฐกิจชุดหนึ่ง ที่ (ก) เน้นการผลิตในปริมาณมากๆเพื่อให้ประหยัดและคุ้มทุน และ (ข) เน้นเรื่องการแข่งขันและความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบจนละเลยบางภาคส่วน รวมทั้งพยายามมองไม่เห็นต้นทุนทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง อุดมการณ์บริโภคนิยม ที่หลายๆตัวละครช่วยกันผลิตและส่งผ่านไปยังปัจเจกจำนวนมาก จนทำให้เกิดการฉวยใช้ (หรือรู้สึก ‘ไม่เป็นไร’ ที่จะใช้) ประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ” มาขยายภาคตัวตนของตนเองให้มีคุณค่ามากขึ้นในสายตาของผู้อื่น ทั้งหมดนี้คือ ‘ความรุนแรงทางวัฒนธรรม’ (cultural violence) ซึ่งตัวการเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของอุดมการณ์/ วิธีคิดซึ่งรองรับและให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มิได้หมายความว่า การจะขัดขืนต่อต้านจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (ผู้สนใจความรุนแรงทั้ง 3 แบบ โปรดศึกษาจาก ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อาวุธมีชีวิต? แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง, (กรุงเทพ: ฟ้าเดียวกัน, 2546)).
[43] กรรณิการ์ พรมเสาร์, อ้างแล้ว, หน้า 41.
[44] สิทรา พรรณสมบูรณ์, อ้างแล้ว, หน้า 78.
[45] แก้ว กังสดาลอำไพ และกัลยารัตน์ เครือวัลย์, “อาหารอินทรีย์ ถ้ารัฐจะทำ…ใช้หัวใจดีกว่าใช้เงิน,” ฉลาดซื้อ, ปีที่ 11 ฉบับที่ 65 (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2548), หน้า 57.
[46] อารีย์ วชิรมโน, ยิ้มสู้มะเร็ง, (กรุงเทพ: สารคดี, 2547), หน้า 87, 105 และ 115-6.
[47] มิชิโอะ คูชิ, อ้างแล้ว, หน้า 59-65.
[48] ดังเช่นที่มีการพบว่า การปะทุกลับมาอีกครั้งของไข้มาลาเรียช่วงคริสตทศวรรษ 1960 หลังจากที่กำจัดไปได้เกือบจะหมดจากโลกแล้ว ได้มีผู้วิเคราะห์จากมุมมองทางนิเวศวิทยาและบางสาขาย่อยทางชีววิทยาว่า นี่เป็นผลพวงจากการปฏิวัติเขียว ซึ่งกระหน่ำใช้ยาฆ่าแมลงและเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ผลที่ตามมาได้แก่ เพียงชั่วข้ามคืนที่มีการโหมใช้ดีดีทีและสารเคมีอื่นๆ ยุงซึ่งสามารถต้านทานยาฆ่าแมลงเหล่านี้ได้ดีก็แพร่พันธุ์กระจายไปทั่วโลก และกลายเป็นพาหะของไข้มาลาเรียระลอกใหม่ (Wim J. van der Steen, Vincent K. Y. Ho and Ferry J. Karmelk, Beyond Boundaries of Biomedicine: Pragmatic Perspectives on Health and Disease, (Amsterdam: Rodopi, 2003), pp.4-6).
[49] ไบรอัน ฮัลเวล, “อาหารอินทรีย์ อาหารเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม,” สัญญาณหายนะ ทางเลือกในศตวรรษที่ 21, (กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2545), หน้า 32-4.
[50] เพิ่งอ้าง, หน้า 49.
[51] นาโอมิ ไคลน์, “มลพิษด้านพันธุกรรม,” อ้างแล้ว, หน้า 105-6.
[52] เป็นกรณีของบริษัทมอนซานโตที่ฟ้องร้องเกษตรกรรายย่อยโดยอ้างว่า ได้ลงทุนต่อเกษตรกรเพราะในแปลงของเกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ GMO ของบริษัท ผลก็คือ เกษตรกรที่มีรายได้เพียง 2-3 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อปี ต้องยอมจ่ายให้กับบริษัทซึ่งมีกำไร 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (“ถอดบทเรียนจีเอ็มโอจากเกษตรกรมะกัน,” a day weekly, ปีที่ 1 ฉบับที่ 15 (27 สิงหาคม-2 กันยายน 2547), หน้า 16.)
[53] เป็นกรณีของบริษัท อเวนติส กล่าวถึงใน นาโอมิ ไคลน์, อ้างแล้ว, หน้า 105.
[54] เพิ่งอ้าง, หน้า 104.
[55] “จากธรรมชาติล้วนๆ,” กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์, ปีที่ 17 ฉบับที่ 5799 (418) (8 สิงหาคม 2547), หน้า 14.
[56] รายการวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ตอน “ปัจจัยที่สี่” ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2548
[57] การโต้ตอบของ Walden Bello จาก Focus on the Global South ต่อกระทู้ของ Philippe Legrain อดีตที่ปรึกษาของนาย Mike Moore อดีตผู้อำนวยการ WTO ในรายการวิทยุบีบีซี ตอนที่ 2 “Do Corporations Rule?” ภายใต้รายการชุด Who Runs Your World? ออกอากาศในวันที่ 25 สิงหาคม 2548 (โปรดดูจาก BBC NEWS: http://news.bbc.co.uk/go/pr/fr/-/1/hi/magazine/4201516.stm)
[58] Walden Bello, “Trade Related Intellectual Property Rights and the Developing World,” Speech at Cairo University, Cairo, October 13, 2004.
[59] คำให้สัมภาษณ์ของ ปภัสรา เตชะไพบูลย์ อายุ 35 ปี นักแสดง อดีตนางงาม และขณะนี้เป็นผู้ที่ขึ้นชื่อว่า “เป็นภรรยานักการเมืองที่เด็กที่สุด สวยที่สุด และสุขภาพดีที่สุด” ลงตีพิมพ์ใน แพรว ปีที่ 26 ฉบับ 606 (25 พฤศจิกายน 2547) หน้า 239-40.
[60] Gill Valentine, “Consuming Pleasures: Food, Leisure and the Negotiation of Sexual Relations,” in: Leisure/ Tourism Geographies: Practices and Geographical Knowledge, ed. David Crouch, (London and New York: Routledge, 1999), p.173
[61] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “วัฒนธรรมฟิตกาย,” วัฒนธรรมความจน, (กรุงเทพ: แพรวสำนักพิมพ์, 2542), หน้า 129.

ไม่มีความคิดเห็น: